อำนาจ รัตนมณี: 20 ปี ‘ร้านหนังสือเดินทาง’ บ้านหลังที่สองของนักอ่าน

812 views
7 mins
May 14, 2024

          ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ‘ร้านหนังสือเดินทาง’ ของ หนุ่ม-อำนาจ รัตนมณี ทำหน้าที่เสมือนบ้านหลังที่สองของนักอ่าน บนถนนพระสุเมรุ1 อันเงียบสงบผ่านแดด ฝน ร้อน หนาว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทว่ายังคงยืนหยัดอยู่ได้อย่างแข็งแรง

          นับจากจุดเริ่มต้นในยุคที่ผู้คนยังไม่เข้าใจคอนเซปต์ของร้านหนังสืออิสระ ยังเลือกซื้อหาหนังสือจากร้านเชนสโตร์ใหญ่ๆ ‘พี่หนุ่ม’ ในวัย 20 เศษ ตัดสินใจเริ่มทำร้านหนังสืออิสระโดยที่ไม่มีความรู้ทางธุรกิจแม้แต่น้อย เขาลงมือทำด้วยความรักในหนังสือและความเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ตนรักจะสามารถเลี้ยงชีพได้ ก่อนจะได้การตอบรับอย่างอบอุ่นจากเหล่านักอ่าน ผ่านนิสัยเป็นกันเองของเจ้าของร้าน การคัดเลือกหนังสืออย่างพิถีพิถัน และบรรยากาศร้านที่กลายมาเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนทางความคิดของผู้คนที่มาเยี่ยมเยือน

          อาจเรียกได้ว่า ร้านหนังสือเดินทาง เปรียบเสมือนผู้บุกเบิกยุคแรกๆ ที่ทำให้นักอ่านชาวไทยได้รู้จักร้านหนังสืออิสระที่มีคาแรกเตอร์ มีบรรยากาศแตกต่างจากร้านหนังสือเชนสโตร์ใหญ่ๆ ทำหน้าที่เป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ให้นักอ่านได้มาพบปะกัน และทำให้ผู้คนได้รู้ว่า ‘การอ่าน’ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ใครๆ ก็อ่านได้

          ที่สำคัญ ร้านหนังสือเดินทาง ทำให้คนที่คิดฝันอยากเปิดร้านหนังสือของตัวเองมีกำลังใจ มีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า ร้านหนังสืออิสระสามารถยืนหยัดอยู่และเลี้ยงชีพได้ ถ้าเรารักและใส่ใจมันมากพอ

อำนาจ รัตนมณี: 20 ปี 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน

ย้อนกลับไปช่วงที่เปิดร้านหนังสือเดินทาง สถานการณ์ของร้านหนังสืออิสระในเวลานั้นเป็นอย่างไร

          ตอนนั้นเป็นยุคที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ยังไม่มีสมาร์ตโฟนแบบปัจจุบัน เป็นยุคที่คนเริ่มใช้โทรศัพท์มือถือ แต่ใช้แค่โทรเข้า-ออก หรือส่งข้อความสั้นๆ คนยังนิยมใช้กล้องฟิล์ม แวดวงหนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ยังดีอยู่ หนังสือยังเป็นสิ่งที่คนใช้เวลากับมันเยอะ แต่ตอนนั้นเป็นยุคที่ยังไม่มีทางเลือกอื่นในการเข้าถึงข้อมูลมากเท่ากับตอนนี้ แล้วเป็นยุคที่น่าแปลก ทั้งที่การเข้าถึงข้อมูลมีช่องทางน้อยกว่าตอนนี้ แต่ยุคนี้กลับมีร้านหนังสืออิสระมากกว่า 20 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องย้อนแย้งพอสมควร

          ตอนที่เราเริ่มต้นร้านเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ร้านหนังสืออิสระมีไม่เยอะ ร้านที่อายุไล่เลี่ยกันก็เช่น ร้านเล่า ที่เชียงใหม่ ร้านหนัง(สือ)2521 ที่ภูเก็ต ซึ่งอายุห่างกันแค่ปีเดียว ในยุคนั้นคนซื้อหนังสือตามร้านเชนฯ ใหญ่ๆ หรือตามบุ๊กแฟร์ ซึ่งช่วงที่เปิดร้านหนังสือเดินทางที่แรกบนถนนพระอาทิตย์ ถือว่าได้รับฟีดแบ็กจากนักอ่านในปริมาณที่น่าดีใจ ในมุมหนึ่ง เรารู้สึกว่า 4 ปีของร้านแรกที่ย่านพระอาทิตย์ เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ร้านเป็นที่รู้จัก และเป็นการสร้างฐานไว้อย่างดีสำหรับการย้ายมายังถนนพระสุเมรุในปัจจุบัน

ถ้านั่นคือบริบทของร้านหนังสืออิสระในเวลานั้น แล้วมีปัจจัยลบอื่นๆ ในการทำร้านบ้างไหม

          มีนะ พอยุคนั้นมีร้านหนังสืออิสระน้อย สำนักพิมพ์หรือสายส่ง ก็จะไม่ค่อยเข้าใจคอนเซปต์คำว่า ‘ร้านหนังสืออิสระ’ เขาไม่สนใจในการที่เราจะเอาหนังสือเขามาวางขายที่ร้าน เพราะเขามองว่า เรามีแค่หนึ่งเดียวแถมยังเล็กด้วย ไม่สามารถสั่นสะเทือนอะไรเขาได้เลย ไม่มีเราเขาก็อยู่ได้

          แต่ตอนนี้เขาเริ่มเข้าใจว่าบริบทการทำหนังสือมันเปลี่ยนไป หนังสือที่ร้านเรามีมากมาย สำนักพิมพ์มักขอเก็บคืนเพื่อนำกลับไปลดราคา แต่ร้านเรายังขายเต็มราคาได้ด้วยซ้ำไป มันทำให้สำนักพิมพ์ที่เมื่อก่อนเคยมองข้ามร้านหนังสืออิสระก็เริ่มคิดว่า มี hidden บางอย่างที่คุณต้องใส่ใจในรายละเอียดเหมือนกัน แต่ก่อนภาวะเหมารวมอาจจะมี เพราะร้านหนังสืออิสระอาจเป็นเรื่องใหม่ในแง่คอนเซปต์ แต่เดี๋ยวนี้เหมารวมไม่ได้แล้ว

อำนาจ รัตนมณี: 20 ปี 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน

ตอนนั้นคุณใช้วิธีไหนในการติดต่อขอหนังสือมาขาย

          เราใช้วิธีสู้ตามหน้าตัก เราไม่สามารถทำร้านขึ้นมาแล้วทุกอย่างเพอร์เฟกต์ หนึ่ง ทุนทรัพย์ก็ไม่ได้มีเยอะ กว่าจะได้หนังสือสำนักพิมพ์ต่างๆ มา เราต้องรอ

          สมมติว่าการเอาหนังสือเข้ามา ต้องไปเปิดหน้าบัญชีกันและกัน เงื่อนไขการเปิดหน้าบัญชีก็ต้องมีการทำแบงก์การันตี คือการเอาเงินไปค้ำประกันเขาไว้ว่าเราเอาหนังสือเขามา เราไม่ได้เอามาแล้วชิ่ง ซึ่งแบงก์การันตีแต่ละเจ้าก็แตกต่างกันอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน บางเจ้าสามหมื่น บางเจ้าห้าหมื่น ซึ่งพอเจอหลายเจ้าก็เจอหลายตังค์เหมือนกัน เราเลยใช้วิธีรอ สมมติผ่านไปสามเดือนพอเก็บเงินได้ เราก็ไปเอาเจ้านี้มา ผ่านไปอีกหกเดือน เราไปเอาอีกเจ้ามา มันต้องใช้เวลา

ฟีดแบ็กจากการเกิดขึ้นของร้านหนังสือเดินทางในตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

          เราคิดว่าเสียงตอบรับไปในทางบวกตลอด ดีด้วยซ้ำไป การที่มันยืนอยู่มาได้ 20 ปี หรือการที่ทุกวันนี้ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดเริ่มมีร้านหนังสืออิสระมากขึ้น นั่นเป็นตัวชี้วัดด้วยตัวมันเอง ว่าการมีอยู่มันดีหรือไม่ดี

          สำหรับกรณีร้านหนังสือเดินทาง เราเองได้จากร้านทั้งในเชิงอาชีพและรายได้ รวมถึงกำไรที่ไม่ใช่ตัวเงิน มันมีหลายมิติที่ทำให้เรารู้สึกว่านี่คือกำไรอย่างหนึ่งของการทำร้านหนังสือ พูดง่ายๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมคือ บางอาชีพพอเลิกงานเรายังต้องเรียกหาเพื่อนฝูงอีกแบบมาแฮงเอาท์ แต่พอทำร้านหนังสือเดินทางมา 20 ปี พอปิดร้านก็คือปิดร้าน เราอิ่มแล้ว อยากกลับไปนอนอ่านหนังสือ ภาวะการเรียกร้องต้องออกไปสังสรรค์นั้นไม่มีเลย แสดงว่าระหว่างวันเราได้เจอคนที่อยากเจอแล้ว สำหรับเรานี่คือกำไร

          ถามว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าเราเซ็ตอัปร้านขึ้นมาโดยมีบุคลิกอย่างไรด้วย มันถึงจะดึงดูดคนเหล่านั้นเข้ามา

อำนาจ รัตนมณี: 20 ปี 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน

แล้วคุณเซ็ตอัปร้านขึ้นมาอย่างไร ทั้งคอนเซปต์ และการสร้างคาแรกเตอร์ให้ร้านเป็นที่จดจำ

          มีปัจจัยสองอย่างที่ต้องคำนึง หนึ่ง มองปัจจัยภายนอกก่อน เราต้องยอมรับว่าระบบนิเวศร้านหนังสือ การที่ใครสักคนจะลุกขึ้นมาทำร้านหนังสือ คุณไม่มีทางมีทุนทรัพย์ไปสู้ร้านเชนสโตร์ที่มีอยู่ตอนนี้ได้ ประเด็นคือถ้าสู้ไม่ได้ในเชิงปริมาณ ทั้งปริมาณทุน ปริมาณพื้นที่ คุณจะยืนอยู่อย่างไรให้อยู่รอด คำตอบคือคุณต้องแตกต่าง ด้วยธุรกิจของมันเองมันบังคับให้คุณต้องแตกต่าง

          ปัจจัยที่สองคือ จะแตกต่างอย่างไร คุณแตกต่างเพราะมีบางอย่างที่แตกต่างจริงๆ หรือแค่เสแสร้งที่จะแตกต่างเพราะต้องการอยู่รอด ประเด็นของเราคือ การเสแสร้งที่จะแตกต่างจะไม่สามารถยืนอยู่ได้นาน คุณเองก็จะรู้สึก คนที่มาร้านก็จะรู้สึก ใจที่เราให้มันก็จะรู้สึก คำถามที่เราคุยกันว่า ‘คิดผิดหรือเปล่า?’ มันจะเกิดขึ้น แล้วจากนั้นคุณก็จะรู้สึกว่านี่ไม่ใช่แล้ว ไปทำอย่างอื่นดีกว่า

          การแตกต่างเป็นเรื่องจำเป็น แต่ต้องแตกต่างอย่างที่คุณเชื่อ ที่คุณเป็น ที่คุณศรัทธา สำหรับเรา พอตัดสินใจจะทำร้านหนังสือก็ถามตัวเองว่าหนังสือประเภทไหนที่เราชอบและอธิบายได้ ก็ต้องกลับไปดูชั้นหนังสือที่เราชอบอ่าน กลับมาดูไลฟ์สไตล์ที่เราชอบ จากนั้นก็พิจารณามิติที่มันกว้างขึ้น เราเลยได้ขอบเขตว่าทำร้านหนังสือเกี่ยวกับการเดินทางดีกว่า แต่คำว่าหนังสือเดินทางของเรา กินความมากกว่าแค่ไกด์บุ๊กหรือสารคดีท่องเที่ยว แต่อาจจะเป็นเรื่องสั้น นิยาย บทความ หรือสารคดีอะไรก็ได้ มันคือหนังสือที่กระตุ้นให้คนอยากเดินทาง

          เราเลยกำหนดคำว่า ‘การเดินทาง’ ของเราเป็นสามขั้นตอน คือ เริ่มจากหนังสือที่กระตุ้นให้คนออกไปดูโลกกว้าง หนังสือที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติม และหนังสือที่ทำให้คุณได้รู้ลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับสิ่งนั้นหลังการเดินทาง ร้านของเรามีสามอย่างนี้เป็นตัวคุมหลัก มันเลยทำให้ชัดเจนมากว่าหนังสือประเภทไหนที่เราควรจะมีในร้าน นั่นคือในมุมของร้าน

          ส่วนมุมของลูกค้า มันทำให้มีภาพชัดเจนว่า เวลานึกถึงเรา เขาจะเห็นภาพชัดว่ามาแล้วจะได้อะไร อันนี้เป็นตัวชี้เป็นชี้ตายเลย บางกรณีไม่ใช่ว่าหนังสือที่เรามี ที่อื่นไม่มี แต่มาที่นี่แล้วมันได้แน่นอน หรือหาง่ายกว่า อันนี้เป็นการวางบุคลิกของมัน ประกอบกับพอเป็นคำว่าหนังสือเดินทาง เราก็มีภาพในหัวตั้งแต่แรกแล้วว่า ถ้าเราต้องเดินเข้าไปในร้านหนังสือสักร้าน บรรยากาศแบบไหนที่เราอยากเจอ คือเอาตัวเองเป็นตัวชี้วัดแรกเลย เราไม่อยากอยู่ในบรรยากาศร้านหนังสือที่ดูเคร่งครัดเกินไป หนังสือห่อพลาสติกไว้หมด หรือถ้าหิวน้ำขึ้นมามีอะไรให้ดื่มไหม เราเลยรู้สึกว่าถ้างั้นเราจะมีร้านหนังสือที่ทำให้คนมาใช้เวลาอยู่กับมันได้นานที่สุด เป็นร้านที่มีมากกว่ากิจกรรมการซื้อขายหนังสือ แต่ทำอย่างไรถึงจะกลายเป็น cultural destination หรือเป้าหมายทางวัฒนธรรม เช่น ถ้าคุณออกจากบ้าน แต่ไม่อยากไปห้าง ร้านหนังสือจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งให้คุณ นั่นคือสิ่งที่เราคาดหวัง และมันเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ต้น

อำนาจ รัตนมณี: 20 ปี 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน

20 ปีของร้านหนังสือเดินทาง ผ่านความเปลี่ยนแปลงอย่างไรมาบ้าง

          เรายืนยันว่าทำเลร้านที่ถนนพระอาทิตย์เป็นทำเลที่เหมาะกับร้านที่สุด เพราะมีป้อมพระสุเมรุอยู่ข้างหน้า มีแม่น้ำ การที่มีร้านหนังสืออยู่ในชุมชนแบบนั้นมันลงตัว แต่สิ่งที่ไม่ดีคือต้นทุนการทำร้านที่นั่นแพงมาก จึงทำให้อยู่ไม่ได้

          ถามว่า 20 ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์อะไรบ้างที่ร้านหนังสือเดินทางเจอ เราคิดว่ามันมีสามข้อหลักๆ คือ หนึ่ง ไม่ว่าในยุคไหน ถ้าใครสักคนจะทำร้านหนังสือขึ้นมา คุณต้องต่อสู้กับสภาพความเป็นจริงที่ว่า คนไทยมีวัฒนธรรมการอ่านที่ไม่ได้เข้มข้นแข็งแรง ถ้าใครสักคนจะทำธุรกิจเพื่อขายสินค้าให้กับธุรกิจที่มีผู้บริโภคจำนวนน้อยมันก็เสี่ยง ซึ่งอาจทำให้หลายคนไม่กล้า แต่นั่นคือความท้าทายที่ทุกร้านต้องเจอ เราเองก็เจอ แต่ก็รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของเราหรือเปล่าที่ต้องลองทำ เพื่อให้คนอ่านกันมากขึ้น

          สอง ผ่านไปประมาณสิบปี เกิดการดิสรัปชัน ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ข้อมูลขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างเช่นก่อนหน้านี้ก็มีคำว่า ‘กองดอง’ เกิดขึ้น มันสะท้อนว่าเวลาที่คุณมีอยู่ ถูกบางอย่างดึงออกไป สิ่งที่คุณเคยสามารถบริโภคได้เลยก็ต้องกองเอาไว้ก่อน นั่นก็เป็นภาวะหนึ่งที่อาจจะทำให้หลายคนอ่านหนังสือน้อยลง ก็ต้องยอมรับว่าร้านหนังสือเดินทางเองก็เจอภาวะนี้มากระทบเหมือนกัน

          สาม การเกิดมาของโรคระบาดโควิด อันนี้เป็น unpredictable ที่ทุกอาชีพต้องเจอ ร้านหนังสือเดินทางก็เจอผลกระทบ แต่ในบรรดาสามอีเวนต์ทั้งหมดทั้งมวล ถามว่า ร้านหนังสือเดินทาง รับมือได้ด้วยวิธีใด หรืออยู่มาได้ด้วยกลยุทธ์แบบใด เรามองย้อนกลับไปแล้วค้นพบอย่างหนึ่ง คือตราบใดที่เรายังเป็นมนุษย์ เรายังต้องการปฏิสัมพันธ์แบบเป็นมนุษย์อยู่ เราอาจจะอยู่กับบ้าน อาจจะซื้อของออนไลน์ อาจจะอ่านคอนเทนต์สั้นๆ มากมาย แต่สุดท้ายเราเชื่อว่าลึกๆ แล้วคุณยังต้องการการเจอกันแบบตัวเป็นๆ ยังต้องการการปฏิสัมพันธ์ซึ่งหน้า

          มันเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่จะมาทำให้ธุรกิจหนังสือล้มหายไปโดยสิ้นเชิง แต่ว่ามันจับคู่กันไปต่างหาก

ถ้าให้มองย้อนกลับไป ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ในการเป็นผู้บุกเบิกของร้านหนังสืออิสระที่เกิดขึ้น คิดว่าร้านหนังสือเดินทาง มีส่วนในการเปลี่ยนโลกการอ่านของคนไทยอย่างไรบ้าง

          สิ่งหนึ่งที่ร้านหนังสือเดินทางน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบ้างคือ การอ่านไม่จำเป็นต้องอ่านเพื่อเรียน อ่านเพื่อสอบอย่างเดียว สิ่งนี้เป็นฟีดแบ็กที่เราเห็นจากพฤติกรรมของคนในชุมชน การที่มีร้านหนังสืออิสระมาตั้งในชุมชนทำให้คนย้ายจากร้านอื่นมาร้านหนังสือเหล่านั้น ทีนี้พฤติกรรมของคนที่ไม่เคยอ่าน พอได้เห็นคนอ่าน ก็อาจรู้สึกว่า การอ่านไม่จำเป็นว่าต้องเป็นนักเรียนหรืออาจารย์ อยู่ในวัยทำงานก็อ่านได้ เราคิดว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเลยก็คือ มันทำให้ความรู้สึกที่ว่าหนังสือเป็นเรื่องไกลตัว มันไม่ได้ไกลตัวเหมือนเดิม

          หาก 20 ปีของร้านหนังสือเดินทาง จะมีอานิสงส์อะไรบ้างกับแวดวงหนังสือ เราคิดว่าการมีอยู่ของมันน่าจะเป็นตัวที่ทำให้คนที่คิดฝันอยากมีร้านหนังสือมีกำลังใจหรือมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า ร้านหนังสืออิสระมันอยู่ได้

บรรยากาศสถานที่ตั้งใหม่ของร้านหนังสือเดินทาง
Photo: ร้านหนังสือเดินทาง – Passport Bookshop


เชิงอรรถ

[1] ปัจจุบันร้านได้ย้ายไปเปิดทำการอยู่ที่ ซอยสำราญราษฎร์


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก