เมื่อลองค้นหาข้อมูล เมืองแห่งการเรียนรู้ยูเนสโก (UNESCO Learning City) เมืองอัมมาน (Amman) ประเทศจอร์แดน เป็นหนึ่งใน 12 เมืองที่ได้รับรางวัลใน ค.ศ. 2015 ความน่าสนใจของการเรียนรู้ที่เมืองอัมมาน คือ การพยายามสร้างให้เมืองสนุกสนาน สร้างชุมชนของผู้อพยพจากหลายเมืองในอาหรับผ่านโปรแกรมการเรียนรู้ Ta’azeeleh ซึ่งเป็นภาษาอาหรับที่แปลว่า Unlearning หรือการละทิ้งความรู้
อัมมานเป็นเมืองเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปถึง 7500 ปีก่อนคริสตกาล ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา มีผู้อพยพหลากหลายเชื้อชาติขยับขยายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ทั้งชาวเซอร์คัสเซียน อาร์เมเนียน อาหรับ อิรัก เลบานอน ปาเลสไตน์ ซีเรีย ต่อมาในช่วง ค.ศ. 1991 สงครามอ่าว (Gulf War) ทำให้ชาวเมืองจอร์แดนราว 300,000 คนถูกบังคับให้เดินทางกลับประเทศของตัวเอง อัมมานจึงเต็มไปด้วยผู้คนต่างหน้าตา ต่างวัฒนธรรม ส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านการขาดแคลนทรัพยากร การถดถอยทางเศรษฐกิจ ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย
ระบบการศึกษาของอัมมานก็ยังคงดำเนินการตามรูปแบบปาเลสไตน์ในอาณัติของอังกฤษ (British Mandate) ตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1920 มีการตัดเกรดที่เคร่งครัด ทำให้ผู้เรียนขาดความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีจุดหมายในการเรียน ปัญหาผู้ลี้ภัยจำนวนมากก็บีบให้ระบบการศึกษาของโรงเรียนประจำเมืองถ่ายทอดแต่เนื้อหา แต่ไม่ได้สอนให้นักเรียนค้นหา
ทั้งหมดนี้คือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย โปรเจกต์จีรา (Jeera) ซึ่งใช้โปรแกรมการเรียนรู้ Ta’azeeleh (Unlearning) เป็นเครื่องมือ จึงเกิดขึ้นมาจากการร่วมแรงร่วมใจสองหน่วยงานหลัก คือองค์กรส่งเสริมการศึกษาอาหรับและเทศบาลเมืองอัมมาน โปรเจกต์นี้เป็นการขอแรงจากอาสาสมัคร การเอื้อเฟื้อสถานที่ และเงินทุนสนับสนุนจากภาคีหลายภาคส่วน เช่น
Arab Towns Organization (ATO) องค์กรที่เชิญโปรเจกต์จีราให้ไปนำเสนอผลงานต่อนายกเทศมนตรีของกลุ่มประเทศอาหรับต่างๆ ในการประชุมที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ รวมถึงตั้งคณะกรรมการด้านวัฒนธรรมสำหรับกลุ่มประเทศอาหรับเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้กลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้
Tammey for Youth Development ศูนย์พัฒนาเยาวชนแทมมี ที่ทำงานในประเทศเลบานอน ปาเลสไตน์ อียิปต์ ช่วยอบรมพัฒนาเยาวชน เสริมสร้างความแข็งแกร่งของชุมชน
Kitabi Kitabak องค์กรที่ช่วยส่งเสริมการอ่านของเด็ก โรงภาพยนตร์
Al Balad ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ที่ไม่แสวงหากำไรในเมืองอัมมาน
Tal’et tasweer ที่รวบรวมช่างภาพอาชีพและมือสมัครเล่นทั่วโลกให้มาท่องเที่ยวและถ่ายภาพในเมือง
กิจกรรมส่วนใหญ่ไม่ได้เน้นความเป็นวิชาการ แต่เป็นความพยายามที่จะสร้างการเรียนรู้ผ่านชุมชน สำหรับคนที่อยากรู้อะไรก็ตาม อยากแบ่งปันอะไรก็ได้ มารวมกันในสถานที่ที่ถูกทิ้งร้างและเปลี่ยนมันให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้
‘การเดินทาง’ จึงเป็นกุญแจหลักที่ช่วยให้โปรเจกต์สำเร็จ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ท่องเที่ยวไปรอบเมืองศึกษาพื้นที่การเรียนรู้อื่นๆ เข้าร่วมกลุ่มกับย่านที่ไม่คุ้นเคย เพื่อสร้างเครือข่ายจนคุ้นเคย แนวร่วมต่างๆ ใช้วิธีการนี้เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาที่ไม่ได้อยู่ในระบบ
ทุกคนมีโอกาสรับบทเจ้าบ้านและแขก หรือรับบทครูและนักเรียน เพื่อให้เข้าใจว่าความรู้อย่างเป็นทางการ หรือการศึกษาในระบบไม่ได้จำเป็นเสมอไป สิ่งที่สำคัญมากกว่าก็คือ คุณคิดว่าอะไรเป็นความรู้ เมื่อรู้แล้วจึงเอามาแลกกัน เนื้อหาในโปรแกรมยังกระตุ้นให้ทุกคนลองนิยามคำว่า ‘ความรู้’ กันดูใหม่ บางคนรู้เรื่องการเย็บผ้า ก็เป็นช่างเย็บผ้าได้ บางคนรู้เรื่องการทำสวน ก็เป็นเกษตรกรได้ บทสนทนาจะขับเคลื่อนตัวมันเอง ก่อนจะได้รับการออกแบบให้ต่อยอดจากผู้เชี่ยวชาญ
ทุกครั้งที่มีการจัดโปรแกรม Ta’azeeleh ทุกคนจะต้องบอกให้ได้ว่าตัวเองอยากรู้อะไร อยากแบ่งปันความรู้อะไรให้คนอื่น ทักษะอะไรที่เป็นประโยชน์กับชีวิต เช่น การประกอบอาหาร เทคโนโลยี ภาษา พวกเขาต้องจัดกลุ่มเล็กๆ สร้างโลกภายใน ก่อนจะเปล่งเสียงออกมาว่าตัวเองมีความหมายต่อโลกอย่างไร
“การศึกษาจะต้องไม่ผูกขาดกระบวนการ และหากการศึกษาไม่ถูกทำให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ก็ถือว่ามันขาดความชอบธรรมในการมีอยู่”
ด้วยยึดมั่นในแนวคิดข้างต้น องค์กรส่งเสริมการศึกษาอาหรับและเทศบาลเมืองอัมมาน จึงเป็นองค์การหลักในการขับเคลื่อนโปรเจกต์ร่วมกับภาคีเครือข่าย โปรเจกต์นี้เดินหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะเครือข่ายตั้งใจขับเคลื่อนจากระดับรากหญ้า จนจีรามีสมาชิกที่เป็นแกนนำสำคัญอยู่ 10 คน มีทีมอีกมากกว่า 50 ทีม องค์กรสนับสนุนมากกว่า 30 องค์กร แต่การออกแบบกิจกรรมให้มีความหลากหลายมากขึ้น และกระจายตัวไปให้ครอบคลุมทุกย่านของเมืองอัมมาน ก็ยังเป็นข้อท้าทายที่เจ้าของเมืองรางวัลแห่งการเรียนรู้เมืองนี้ต้องผลักดันกันต่อ
โปรแกรมของเมืองแห่งการเรียนรู้อัมมานมีน้อยและเรียบง่าย แทบจะไม่ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่ล้ำอะไรหากเทียบกับโมเดลการเรียนรู้ของเมืองการเรียนรู้อื่นๆ แต่มันเป็นรูปแบบของชุมชนและการสร้างตัวตนปัจเจกที่น่าสนใจ อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เมืองอื่นๆ ในประเทศอื่นๆ เห็นว่า การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ไม่มีคำว่าไม่พร้อม ข้อจำกัดมากมายสามารถถูกคลี่คลายได้ ด้วยการร่วมกันค้นหาและนิยามว่าผู้คนในเมืองนั้นเห็นว่าอะไรสำคัญกับชีวิตบ้าง
ที่มา
เว็บไซต์ Arab Education Forum (Online)
บทความ “Amman” จาก uil.unesco.org (Online)