ใน ‘ร้านร่ม บริการกาแฟ และรับจ้างสารพัด’ มิสึบะ หญิงสาวผู้ไม่เป็นใครนอกจากตัวเอง 

501 views
5 mins
April 2, 2025

         ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่ชอบเข้าสังคมแค่ไหนย่อมมีสักครั้งในชีวิตที่รู้สึกว่ามุกของคู่สนทนาไม่ขำเลยสักนิด แต่ก็ต้องหัวเราะออกมาหรือยิ้มเพื่อรักษามารยาท ต้องทนพูดคุยเรื่องที่คุณไม่สนใจกับเพื่อนๆ ในที่ทำงาน หรือทำกิจกรรมรวมกลุ่มทั้งที่อยากอยู่คนเดียว 

         มนุษย์ไม่อาจเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่เมื่ออยู่ในสังคม เมื่อเรายังต้องผูกสัมพันธ์กับผู้คน การเป็นตัวเองโดยไม่ประนีประนอมอาจทำให้ชีวิตไม่ราบรื่น 

         เว้นแต่คุณจะเป็นอามาเนะ มิสึบะ หญิงสาววัย 26 ปี ผู้อาศัยบนชั้น 2 ของร้านร่ม ทำอาชีพรับจ้างขับรถรับส่งผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล เป็นตัวแทนเยี่ยมไข้ และงานรับจ้างอื่นๆ ที่ผูกพ่วงมากับงานสองอย่างแรก รายได้ไม่มากมาย แต่ก็ทำให้เธอมีชีวิตอย่างที่ต้องการได้ 

         โปรยปกหลังของหนังสือ ‘ร้านร่ม บริการกาแฟ และรับจ้างสารพัด’ เขียนว่า เธอเป็นคนไร้อารมณ์ร่วมกับผู้อื่น ใช้ชีวิตเหมือนทิ้งสังคมไว้ข้างหลัง และเหมือนพยายามจะฆ่าตัวตายไปทีละนิด ผมไม่ค่อยเห็นด้วยที่บอกว่ามิสึบะไร้อารมณ์ 

         มิสึบะไม่ได้ไร้อารมณ์หรือไร้อารมณ์ร่วม หากดูจากสิ่งต่างๆ ที่เธอเลือกทำ เธอเพียงแค่มีวิธีการแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานสังคมทั่วไป เป็นปกติ…ความแตกต่างย่อมถูกมองอย่างคลางแคลงและเข้าใจผิด เมื่อสูญเสีย เศร้าโศก ผิดหวังต้องร้องไห้ เมื่อได้รับ มีความสุข สมหวังต้องยิ้มแย้ม เรามักหลงลืมไปว่าการแสดงอารมณ์ความรู้สึกเป็นเรื่องส่วนตัว มันไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน การร้องไห้ปานหัวใจแตกสลายเมื่อสูญเสียคนที่รักเป็นเพียงการแสดงอารมณ์วิธีหนึ่งในวิธีอันหลากหลาย ใช่ว่าใบหน้าเรียบเฉยจะปราศจากความเห็นอกเห็นใจและภายในไม่ร้องไห้ 

         ตรงนี้ชวนให้นึกถึง ‘คนนอก’ หรือ ‘The Stranger’ งานขึ้นหิ้งของอัลแบรต์ กามูส์ (Albert Camus) ที่ตัวละครเอกอย่างเมอโซ ถูกพิพากษาอย่างไม่ยุติธรรมเพราะภายนอกเขาแสดงความนิ่งเฉยต่อการตายของแม่ 

         มิสึบะพูดว่า

         “ในบริษัทที่ฉันเคยทำงานอยู่มีบรรยากาศเป็นเอกลักษณ์คือทุกคนจะปฏิบัติต่อคนที่ต่างจากตัวเองค่ะ แต่ไม่ใช่เจตนาจะกลั่นแกล้งหรือขับไสไล่ส่งหรอกนะคะ กลับกันเลย พวกเขาพยายามบังคับให้อีกฝ่ายเข้าพวกด้วยทั้งที่ไม่ได้ร้องขอ พวกเขาคิดว่าต้องสอนสั่งให้เข้าใจถึงความสำคัญของการร่วมแรงร่วมใจกันและความดีงามที่เจิดจ้าจนบาดตา”

         หลายคนน่าจะเคยตกอยู่ในสถานการณ์ข้างต้นและอึดอัด กระอักกระอ่วน ทำตัวไม่ถูก ครั้นจะอยู่ตามลำพังก็หวาดกลัวว่าชีวิตการทำงานจะพานพบอุปสรรค แต่มิสึบะไม่กลัว ไม่รู้เพราะบ้าคลั่งหรือกล้าหาญ เธอเลือกลาออกจากบริษัทที่การงานมั่นคงแล้วมาทำอาชีพรับจ้าง

         มิสึบะเลือกระยะห่างที่พอดีสำหรับตัวเธอเอง ระยะห่างที่จะไม่ทำให้เธออึดอัด ระยะห่างที่เธอจะดูแลตนเองและคนอื่นได้ทั้งในหน้าที่การงานและเรื่องส่วนตัว เป็นความซื่อตรงอันเรียบง่ายและไม่เรียกร้องอะไรจากใคร 

         “โดยพื้นฐานฉันจะทำสิ่งที่ผู้ว่าจ้างไหว้วานและไม่ทำสิ่งที่ขอร้องว่าอย่า เพราะฉันได้รับค่าจ้างในส่วนของงานที่ทำ และฉันไม่ใช่เพื่อนหรือครอบครัว จึงไม่จำเป็นต้องห่วงความรู้สึกหรือเกรงใจ โดยพื้นฐานฉันจะไม่ ‘ประเมินสถานการณ์’ เพราะฉะนั้นหากต้องการให้ฉันทำอะไรโปรดสั่งมา” 

         ทว่า… 

         “เพียงเพราะฉันประเมินสถานการณ์ไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าฉันไม่มีความรู้สึกหรือเจตจำนงเป็นของตัวเอง” 

         คนที่ซื่อตรงกับตัวเองมากๆ และไม่ประเมินสถานการณ์หรือไม่ตีความอารมณ์ของใคร ออกจะไม่เป็นธรรมหากจะตัดสินว่าไร้อารมณ์ ผมเชื่อว่าในบางครั้งตัวเราเอง (รวมตัวผมเข้าไปด้วย) ก็อยากเป็นแบบมิสึบะ นั่นเพราะการมีชีวิตร่วมกับผู้คนมากมายหลายครั้งเราหยิบเอาสีหน้า ท่าทาง คำพูด พฤติกรรม ฯลฯ ของคนอื่นมาตีความ มาประเมินสถานการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ผิดมากกว่าถูกและเป็นตัวเราที่ทุกข์ร้อนกับความคิดของเราเอง จะดีแค่ไหนกันถ้าเราสามารถเปิด-ปิดโหมดประเมินสถานการณ์ได้ เราจะเหนื่อยน้อยลง และเลือกทำหรือไม่ทำในสิ่งที่คนรอบข้างต้องการ แต่ทำหรือไม่ทำในสิ่งที่เราต่างหากต้องการ 

ใน ‘ร้านร่ม บริการกาแฟ และรับจ้างสารพัด’ มิสึบะ หญิงสาวผู้ไม่เป็นใครนอกจากตัวเอง 

         นั่นเพราะเราเป็นมนุษย์ที่มีเจตจำนงยังไงล่ะ 

         และเจตจำนงมาพร้อมกับเสรีภาพ เสรีภาพที่ทำให้มิสึบะต้องเมินหมางกับแม่ แม่ผู้คอยกำกับบงการชีวิตเธอและพี่สาวมาตลอด มิสึบะขัดขืนดื้อดึง ขณะที่พี่สาวโอนอ่อนผ่อนตามโดยไม่มีปากเสียง 

         ความดื้อดึงและใช้ชีวิตตามใจตัวเองของมิสึบะดึงความสนใจของแม่ไปไว้ที่เธอ ในหัวข้อสนทนาและการพร่ำบ่นที่ลอยไปมาในอากาศเป็นต้องมีชื่อ ‘มิสึบะ’ อยู่ร่ำไป มันผสมรวมกันระหว่างความเบื่อหน่ายและความเป็นห่วง โดยมีพี่สาวคั่นกลางคอยไกล่เกลี่ยไม่ให้ลุกลามเป็นการทะเลาะเบาะแว้ง พี่สาวของมิสึบะเป็นคนที่รักษา ‘ระดับพอดิบพอดี’ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ไม่ว่าจะเรื่องการเรียน งาน ชีวิต คำพูดคำจา การทำอาหาร เป็นความพอดิบพอดีในแบบที่แม่ต้องการโดยไม่แพร่งพรายความรู้สึกที่แท้จริงออกมา ด้วยหวังว่าเธอจะเป็นลูกคนโปรดของแม่ 

         แต่ทั้งแม่และมิสึบะไม่รู้เลยว่าการที่มิสึบะอยู่ใจกลางของการพูดคุยตลอดเวลานั้น สร้างบาดแผลในจิตใจของพี่สาวอย่างยาวนานและรอวันแตกหัก ก็ทำไมจะไม่เจ็บปวด คนที่ทำในสิ่งที่ผู้เป็นแม่ต้องการสารพัดกลับไม่ถูกสนใจ ไม่ถูกพูดถึงเท่ากับลูกอีกคนที่ดื้อด้านและเป็นตัวของตัวเอง 

         เรื่องนี้บอกว่าการนิยามตัวตนโดยอ้างอิงกับความต้องการของคนอื่นเป็นเรื่องอันตราย มันทำให้ตัวเราแหว่งวิ่น ไม่มั่นคง และไม่มีสิ่งใดการันตีได้เลยว่า เราจะได้รางวัลจากการเป็นสิ่งที่คนอื่นต้องการ แต่จะป้ายโทษให้พี่สาวของมิสึบะก็โหดร้ายเกินไป… 

         เพราะเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในตัวละคร ‘ร้านร่ม บริการกาแฟ และรับจ้างสารพัด’ คือความห่วงใยของแม่ที่แปรเปลี่ยนเป็นแรงกดดันให้ตัวละครแต่ละตัวต้องระเหระหนไปในทิศทางที่ตรงข้ามกับแม่ แล้วใช้ชีวิตของตนเองให้เต็มที่ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับความยากลำบากหรือความโดดเดี่ยวหมางเมิน 

         ความเป็นมิสึบะจึงเป็นสิ่งที่เธอเลือกและเป็นแรงขัดขืนผู้เป็นแม่ แต่ไม่ใช่การขัดขืนแบบที่ว่า ฉันจะไปใช้ชีวิตลำบากเพื่อทำให้แม่โกรธหรือเสียใจ แบบนั้นมันก็แค่การประชดประชันไม่ใช่เหรอ มิสึบะมีความสุขกับทางที่ตนเลือก ถึงจะทำงานรับจ้าง แต่ก็รู้สึกว่าชีวิตมั่นคงดี ไม่เดือดร้อน เหมือนที่สายตาคนนอกคิด 

         ตอนที่อ่านนวนิยายขนาดกำลังดีเล่มนี้ มันไม่ได้ให้ความรู้สึกอบอุ่นและการเติบโตทางอารมณ์ของมิสึบะอย่างที่หน้าปกและคำโปรยพยายามสื่อ อย่างที่ผมพูดไปตั้งแต่ต้น มิสึบะไม่ใช่ผู้หญิงไร้อารมณ์ เธอแค่มีวิธีแสดงออกที่แตกต่าง สิ่งนี้ทำให้เรื่องราวน่าสนใจว่าเมื่อความแตกต่างของเธอเผชิญกับสถานการณ์หลากหลาย เธอจะแสดงออกอย่างไร รับมืออย่างไร และจะถูกมองจากคนอื่นอย่างไร 

         ผู้เขียนเล่าเรื่องได้อย่างมีจังหวะจะโคน ค่อยๆ ปล่อยสถานการณ์มาทดสอบมิสึบะ พร้อมกับให้คนอ่านลองจินตนาการว่าสุดท้ายแล้วมิสึบะจะตอบสนองอย่างไร ขณะเดียวกันผมก็จินตนาการด้วยว่า ถ้าเป็นผม ผมจะตอบสนองอย่างไร จะโอนอ่อนตามที่ถูกมารยาทสังคมกล่อมเกลามาเนิ่นนานหรือเลือกทำตามเจตจำนงของตนเอง ซึ่งผมน่าจะเลือกอย่างแรก ผมไม่ใช่คนกล้าหาญขนาดนั้น 

         ท้ายของท้ายที่สุดคือ ผมอิจฉามิสึบะ คุณก็อาจรู้สึกอิจฉา ‘ถ้าฉันเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเธอ ชีวิตฉันจะเป็นยังไงนะ’ ผมไม่รู้หรอก แต่ในโลกที่ตะโกนใส่เรา ให้เราเป็นคนอื่นอยู่ตลอดเวลา มันยากเอาเรื่องที่จะเบาเสียงตะโกน แล้วตะโกนกลับว่า “ฉันจะเป็นตัวเอง” 

         นั่นเพราะการเป็นตัวเองโดยไม่มีสิ่งปะปนทำไม่ได้หรอกในโลกความเป็นจริง จะมีก็แต่การปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์โดยยังคงกระดูกสันหลังให้ตั้งตรงตามที่เราเชื่อมั่นศรัทธาไว้ให้แน่นหนา ไม่ต้องหวนมาเสียใจกับตัวเองทีหลังยามส่องกระจก 

         ฉันจะคิดถึงเธอ…มิสึบะ

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก