‘Agora’ โรงเรียนนอกกะลา การศึกษานอกกรอบ สอนให้ ‘เรียนรู้วิธีการเรียนรู้’

6,800 views
6 mins
December 14, 2021

          ตามธรรมชาติแล้ว มนุษย์ 100 คน ย่อมต้องมีตัวตนและความต้องการที่แตกต่างกันออกไป 100 แบบ ทว่าระบบการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้สร้างข้อจำกัดให้ผู้เรียนทุกคนต้องเรียนหลักสูตรเดียวกัน ด้วยกระบวนการเดียวกัน และวัดผลด้วยวิธีเดียวกัน ซึ่งลดทอนคุณค่าของโรงเรียนให้เป็นเพียงโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้ามาตรฐานเดียวกันสู่สังคม

          อย่างไรก็ดี แนวโน้มของระบบการศึกษายุคใหม่ เริ่มคำนึงถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนตามความสนใจเฉพาะของแต่ละบุคคลมากขึ้น มีการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้มีความยืดหยุ่น กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เปิดกว้างต่อความแตกต่างหลากหลาย รวมทั้งมุ่งสร้างทักษะมากกว่าวิชาความรู้ เพื่อให้ตอบโจทย์โลกการทำงานในอนาคต

          รู้จักกับระบบการศึกษาในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีคุณภาพเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และ อะโกรา (Agora) โรงเรียนที่กล้าก้าวออกมาจากกรอบของโรงเรียนแบบเดิมๆ คือไม่มีแม้กระทั่งห้องเรียนไม่มีวิชา ไม่มีการบ้าน ไม่มีการสอบ และไม่มีตำรา แต่สามารถสร้างการเรียนรู้ที่ลุ่มลึกและมีความสุขให้กับผู้เรียนได้

จุดเด่นของการศึกษาสไตล์ดัตช์

          การศึกษาของประเทศเนเธอร์แลนด์มีเอกลักษณ์ในเรื่องของความเป็นอิสระ รัฐบาลให้สิทธิแก่โรงเรียนในการจัดการศึกษาอย่างเต็มที่ โดยไม่เข้าไปแทรกแซงเรื่องการบริหารจัดการ หลักสูตร หรือวิธีการสอนของครู จึงทำให้เกิดความหลากหลายทางด้านเนื้อหา โดยนักเรียนมีโอกาสเลือกแผนการเรียนด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้ตั้งต้นมาจากพื้นฐานความเชื่อที่ว่า การเปิดโอกาสให้ทั้งนักเรียนและครูได้เลือกทำในสิ่งที่ตนถนัด จะก่อให้เกิดความสุขและอยากจะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

          สำหรับกระบวนการในห้องเรียน จะเน้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำงานเป็นทีม ครูจะกระตุ้นให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างเต็มที่ และสามารถถามคำถามได้ตลอดเวลา ทุกคนต่างเคารพความคิดเห็นของกันและกัน รวมทั้งเน้นการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ เช่น การทำโครงงาน การทดลองทางวิทยาศาสตร์ การผลิตสื่อมัลติมีเดีย รวมทั้งการฝึกงานกับบริษัทต่างๆ

          ด้านการพัฒนาบุคลากร มีการสนับสนุนให้ครูแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เช่น การให้เพื่อนครูร่วมสังเกตการสอนในห้องเรียน พร้อมบันทึกและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการสอนและพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน จากนั้นนำกรณีดังกล่าวมาอภิปรายเพื่อหาจุดอ่อนจุดแข็ง และแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงต่อไป วิธีนี้สามารถเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้เงื่อนไขทางสังคมที่มีวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ คือการแสดงความคิดเห็นต่อผู้อื่นด้วยเหตุผล ความสุภาพ และความตรงไปตรงมา รวมทั้งการเปิดใจยอมรับคำวิจารณ์ของผู้อื่น

‘อะโกรา โรงเรียนแนวทดลอง แห่งเมืองโรมอนด์

          อะโกรา (Agora) เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนนีกกี้ (Niekee School) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 มีนักเรียนประมาณ 250 คน อายุตั้งแต่ 12 ถึง 18 ปี เด็กทุกคนมีโอกาสได้เรียนรู้และทำงานร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกอายุหรือระดับชั้น

         หากถามว่า อะโกรา คือโรงเรียนแบบไหน คำตอบที่ได้อาจเป็นสิ่งที่ใครๆ คิดไม่ถึง มันอาจถูกเปรียบให้เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นศูนย์รวมความรู้ทั้งหมดในโลก วัดพุทธ ซึ่งให้ความสุขใจและนำไปสู่แสงสว่างทางปัญญา ห้องแล็บ ซึ่งสามารถทดลองและลงมือสร้างทุกอย่างจากจินตนาการให้กลายเป็นจริง ตลาดชุมชน ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งใหม่ๆ ที่ให้แรงบันดาลใจ หรือ ดิสนีย์แลนด์ ที่สร้างความสุข ความตื่นตาตื่นใจ และความท้าทาย

          อะโกรา ได้นำ คำแถลงอุดมการณ์แห่งอไจล์ (Agile Manifesto) ซึ่งใช้ในวงการออกแบบซอฟต์แวร์ มาปรับใช้กับวงการการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนแต่ละคนได้เดินตามเส้นทางการเรียนรู้ของตนเองจนค้นพบ ช่วงเวลามหัศจรรย์หลักการดังกล่าวให้ความสำคัญกับคนและการมีปฏิสัมพันธ์มากกว่าการทำตามขั้นตอนและเครื่องมือ เน้นสิ่งที่นำไปใช้งานได้จริงมากกว่าเอกสารที่ครบถ้วนสมบูรณ์ มุ่งร่วมมือกันทำงานมากกว่าการเจรจาต่อรอง และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงมากกว่าการทำตามแผนที่วางไว้

          เจ็ฟ ดรัมเมนผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียน กล่าวถึงหลักคิดสำคัญของการจัดการเรียนรู้ว่า “ก่อนอื่นต้องใช้สามัญสำนึกทำความเข้าใจความจริงที่ว่า เด็กชายและเด็กหญิงแตกต่างกัน และนักเรียนแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ต่างกัน ประการที่สอง ครูต้องมีที่ว่างเพื่อใช้สัญชาตญาณ กฎระเบียบอาจกำหนดแนวทางบางอย่างไว้ แต่ถ้าครูพบว่าสิ่งนั้นไม่เหมาะกับเด็ก ก็ควรมีสิทธิที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้เด็ก ประการที่สาม ครูจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ว่าเด็กเรียนรู้อย่างไร สมองพัฒนาอย่างไร ซึ่งจะทำให้รู้ได้ทันทีว่าการสอบเป็นสิ่งเลวร้ายสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะอายุเท่าใดหรือระดับชั้นใด รวมทั้งห้ามขังเด็กไว้ในกรง ห้ามบงการพวกเขาให้อยู่ใต้กฎระเบียบ พวกเขาสามารถเรียนรู้การควบคุมตัวเองได้”

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อโรงเรียนไม่มีห้องเรียน

          ในศตวรรษที่ 21 ทักษะที่ทุกคนควรมีเป็นอันดับต้นๆ คือความคิดสร้างสรรค์ อะโกรา เปิดกว้างให้นักเรียนทุกคนออกแบบพื้นที่และโต๊ะทำงานของตนได้ตามรสนิยมของตนเอง เพื่อจุดประกายให้เกิดความคิดสร้างสรรค์นักเรียนบางคนดัดแปลงโครงรถโบราณให้กลายเป็นโต๊ะ บางคนปูสนามหญ้าเทียมกางเต้นท์ตั้งแคมป์อยู่บนชั้นลอย บางคนฉลุลายโต๊ะเป็นชื่อของตนเอง ฯลฯ

          ในอาคารยังมีพื้นที่สำหรับทำงานร่วมกัน ห้องประชุม ห้องเงียบสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ที่ไม่ต้องการให้มีเสียงรบกวน ครัวสำหรับให้นักเรียนทำอาหารเอง พื้นที่ทำงานไม้ จิตรกรรม งานโลหะ หรือเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ จากองค์ประกอบต่างๆ ที่ว่ามา ทำให้ อะโกรา สลัดภาพของของโรงเรียนที่เราคุ้นชินออกไป แต่ดูคล้าย co-working space หรือสตูดิโอสำหรับทำงานเสียมากกว่า

          “ในปีแรกๆ เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวตนของเด็ก นักเรียนต้องรู้สึกปลอดภัย เป็นอิสระ เราสอนให้พวกเขามองดูโลก สัมผัสความอัศจรรย์ เพื่อที่จะพัฒนาไปข้างหน้า โลกสมัยใหม่ต้องการคนที่มีความยืดหยุ่น มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง และมีความสามารถในการปรับตัวในระดับสูง ปีที่ 2-3 ในโรงเรียน พวกเขาจะมีแรงจูงใจอย่างเต็มเปี่ยมที่จะเรียนรู้ เรามุ่งมั่นที่จะช่วยให้เด็กๆ รับมือกับความไม่แน่นอนของวันพรุ่งนี้ ในขณะที่โรงเรียนทั่วไป นักเรียนต้องทำสิ่งโง่ๆ นั่นคือการสอบเพื่อใบประกาศนียบัตร แล้วออกไปเผชิญกับอนาคตตามยถากรรม” ดรัมเมน กล่าว

          โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีการสอบหรือการให้เกรด แต่ไม่ได้หมายความว่านักเรียนจะขาดการเหลียวแลในการประเมินตนเอง ครูทำหน้าที่สังเกตและให้ฟีดแบ็คต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ เมื่อปี 2016 นักเรียน 3 คน ได้ร่วมกันพัฒนาซอฟต์แวร์ ‘Egodact’ เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของพวกเขา จากนั้นได้เขียนแผนธุรกิจ ออกแบบแผนงานผลิตภัณฑ์ ก่อตั้งบริษัท และขายซอฟต์แวร์ดังกล่าวให้กับโรงเรียนแห่งอื่น ด้วยวัยเพียง 16 ปี

Photo : Andrew Webb

หนึ่งวันใน อะโกรา

          กิจกรรมในแต่ละวันใน อะโกรา เป็นไปอย่างเรียบง่าย ในภาคเช้าเป็นกิจกรรม ‘dagstart’ ซึ่งแปลว่าการเริ่มต้นของวัน ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงสำหรับการอภิปรายกับเพื่อนๆ ในการทำงานร่วมกัน หรือโต้วาทีในหัวข้อเฉพาะ หลังจากนั้นทุกคนจะเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจตามแผนการที่ตนได้วางไว้ หลังพักเที่ยงมีเวลาว่างครึ่งชั่วโมงสำหรับคิดใคร่ครวญเงียบๆ หรืออ่านหนังสือที่จำเป็น คาบสุดท้ายสิ้นสุดเวลา 15.00 น. แต่ในบางครั้งอาจมีกิจกรรมอื่นๆ อีก เช่น พละศึกษา

          นักเรียนที่ อะโกรา จะเลือกหัวข้อที่พวกเขาสนใจมากที่สุด จากนั้นค่อยๆ เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ทีละน้อย โดยไม่ถูกจำกัดอยู่ในหลักสูตรหรือการท่องจำจากตำรา หัวข้อที่นักเรียนเลือกศึกษา มีตั้งแต่เรื่องมัคคุเทศก์บนภูเขาในเยอรมัน ม้าสายพันธุ์มองโกเลีย ช่างตีเหล็ก แฮร์รี่ พอตเตอร์ สเก็ตบอร์ด ฯลฯกระบวนการที่เกิดขึ้นในอะโกรา ไม่ใช่ ‘การสอน’ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสงสัยใคร่รู้ วิธีคิด รวมทั้งวิธีการค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งก็คือ การเรียนรู้วิธีการเรียนรู้

          เริ่มต้นด้วยการให้นักเรียนตั้งคำถามว่าต้องการเรียนรู้อะไร มีพรสวรรค์ ความสนใจ และความใฝ่ฝันอะไร โดยมีครูทำหน้าที่เป็นโค้ชสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ใช้ทุกสิ่งในโลกอย่างคุ้มค่าเพื่อการสำรวจและการทดลอง จากนั้น เป็นการกำหนดผลลัพธ์สุดท้ายเพื่อเป็นเป้าหมายที่ท้าทายในการเรียนรู้ รวมทั้งการเตรียมวางแผนให้พร้อมก่อนออกเดินทางบนเส้นทางการเรียนรู้ของตนเอง เช่น ระหว่างนั้นจะเรียนรู้อะไรบ้าง จะใช้เวลาแค่ไหน หาข้อมูลและความรู้จากที่ใดและอย่างไร หรือจะร่วมมือกับใครเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น

          นักเรียนจะจดบันทึกข้อค้นพบต่างๆ โดยละเอียด อธิบายอุปสรรคและวิธีแก้ไข รวมทั้งสิ่งที่จะลงมือทำในวันถัดไป เมื่อสิ้นสุดเส้นทางการเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถนำเสนอผลการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ เช่น คลิปวิดีโอ ประติมากรรม ภาพจิตรกรรม โดยสามารถชวนโค้ช เพื่อน และผู้ปกครอง ไปรับชมการนำเสนอผลงานที่คอกม้าหรือสถานที่อื่นๆ ที่ได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ ปิดท้ายด้วยการพูดคุยทบทวนกับโค้ชส่วนตัว เพื่อสะท้อนความคิดที่มีต่อการเรียนรู้ว่าตนได้พัฒนาทักษะใดบ้าง และจะสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ต่ออย่างไร

Photo : Andrew Webb

เทคโนโลยีกับความรู้ที่ไร้ขอบเขต

          เทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากของอะโกรา โรงเรียนแห่งนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณเท่าๆ กับโรงเรียนแห่งอื่น แต่ได้นำมาลงทุนด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก แทนที่จะนำไปซื้อตำราเรียน โรงเรียนได้จัดหาคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปให้กับนักเรียนทุกคน เนื่องจากหนังสือหรือตำราบรรจุความรู้ได้จำกัด ในขณะที่สารสนเทศและความรู้ในโลกอินเทอร์เน็ตนั้นกว้างขวาง ไร้พรมแดน ขณะเดียวกันก็เอื้อต่อการเรียนรู้ของแต่ละคนที่มีความต้องการแตกต่างกันไป

          อะโกรา อนุญาตให้นักเรียนใช้มือถือและเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา โดยไม่ได้มองว่า เป็นการส่งเสริมให้เด็กติดมือถือ หรือจมอยู่กับโลกออนไลน์มากเกินไป “เราไม่ต้องการริบโทรศัพท์ของนักเรียนเอามาเก็บไว้ในล็อกเกอร์ ไม่เช่นนั้นพวกเขาก็ต้องพึ่งพาตู้ล็อกเกอร์ไปตลอดชีวิต เด็กๆ ต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อที่จะวางโทรศัพท์ในจังหวะเหมาะสม” ร็อบ เฮาเบ็น ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าว

          นอกจากนี้ โรงเรียนยังใช้เทคโนโลยีเพื่อสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับผู้ปกครอง มีการเก็บข้อมูลด้านทักษะและความเชี่ยวชาญของพ่อแม่แต่ละคน เพื่อให้นักเรียนที่มีความสนใจด้านนั้นๆ สามารถติดต่อเพื่อขอคำปรึกษา รวมทั้งชักชวนให้ผู้ปกครองมาร่วมเป็นอาสาสมัคร ช่วยสนับสนุนงานต่างๆ ของโรงเรียน เช่น ช่วยงานในครัว โรงไม้ หรือเมกเกอร์สเปซ ขับรถพานักเรียนไปยังสถานที่ต่างๆ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกงานในบริษัท ร่วมจัดเวิร์คช็อป และพูดคุยให้แรงบันดาลใจ เป็นต้น

บทบาทที่แท้จริงของครู

           ครูส่วนใหญ่มักทำหน้าที่บอกนักเรียนว่าพวกเขาควรเรียนรู้อะไร เด็กๆ ทำได้เพียงปิดปากเงียบและนั่งฟัง เท่ากับว่าในห้องเรียนมีเพียงคนเดียวที่ใช้สมอง คือครู ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ผิด

          ที่อะโกรา ครูจะทำหน้าที่เหมือนพ่อแม่ โดยครูหนึ่งคนรับผิดชอบดูแลนักเรียนที่มีวัยต่างกันประมาณ 17 คน คล้ายกับครอบครัวขนาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วยพี่น้องหลายรุ่น ภายใต้การเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่นคล่องตัว (agile learning) ครูต้องปรับเปลี่ยนมุมมองแบบวันต่อวันไม่มีใครสามารถบอกได้เลยว่า พรุ่งนี้หรือในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การเรียนรู้ของนักเรียนจะก้าวไปไกลแค่ไหน เพราะบางครั้งก็เคลื่อนไปเร็ว ทว่าบางครั้งก็ช้าลง

          มีการเปรียบเปรยว่า ครูที่อะโกรา มีกล่องสมบัติอยู่ 3 ใบ กล่องใบแรก คือ หัวใจเป็นความรักที่มีให้กับเด็กๆ อย่างไม่มีเงื่อนไข พร้อมสนับสนุนให้พวกเขารักการเรียนรู้และมีความมั่นใจในตัวเอง กล่องใบที่สอง คือความเข้าใจเรื่องประสาทวิทยา จิตวิทยา วิทยาศาสตร์ และวิธีที่จะพัฒนานักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด กล่องทั้งสองใบเป็นเหมือนการเร่งเครื่องให้นักเรียนพร้อมเรียนรู้อย่างเต็มที่ และกล่องใบที่สาม เป็นเรื่องของความรู้ ซึ่งเมื่อมอบให้แก่นักเรียนในจังหวะที่เหมาะสมแล้ว จะเกิดเป็น ‘ปฏิกิริยานิวเคลียร์แห่งความรู้’ ที่มีพลังมหาศาล

          “ครูของเราทำงานกับเด็ก 4 วัน ส่วนอีก 1 วัน ผมไม่อนุญาตให้พวกเขาทำงานกับเด็ก แต่จะต้องเข้าร่วมสังเกตการสอนของครูคนอื่นๆ และให้ข้อเสนอแนะ ถ้าครูคิดว่าทำเช่นนั้นมากพอแล้ว ผมจะบอกให้พวกเขาออกไปนอกโรงเรียน เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องแล็บ หรือบริษัทต่างๆ แล้วกลับมาเล่าว่าพบอะไรบ้างที่นั่น และเราเองก็ต้องพาเด็กๆ ออกไปข้างนอกเช่นกัน เพราะความรู้ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียน แต่อยู่ข้างนอก” ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าว

          หลังจาก อะโกรา ได้ดำเนินการไประยะหนึ่ง จนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาศักยภาพผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โรงเรียนนีกกี้ก็ได้ขยายผล ใช้แนวทางการเรียนรู้เช่นเดียวกับอะโกราจนครอบคลุมทั้งโรงเรียน ซึ่งมีนักเรียนกว่า 600 คน

          แม้ปัจจุบันโรงเรียนลักษณะนี้จะยังมิได้เกิดขึ้นจริงทั่วเนเธอร์แลนด์ แต่แนวทางการจัดการศึกษาอย่างอิสระ ไร้กรอบจำกัดการเรียนรู้ ก็เป็นบทพิสูจน์ถึงโรงเรียนดีๆ ที่มิได้เป็นเพียงอุดมคติ แต่สามารถเกิดขึ้นจริง และควรจะขยายให้แพร่หลายในอนาคต เพื่อให้นักเรียนได้รับการส่งเสริมให้มีความคิดสร้างสรรค์ ได้เรียนรู้ ‘วิธีการเรียนรู้’ และสามารถกำหนดทิศทางการเรียนรู้ของตนเองได้ อันเป็นกุญแจสำคัญต่อการทำงานและดำรงชีวิตในบริบทที่ท้าทายขึ้นเรื่อยๆ


ที่มา

Agora: The school with no classes, no classrooms and no curriculum. [online]

Netherlands school that has no classes or curriculum [online]

Manifesto for Agile Software Development [online]

Secondary Education for the Future – Agora [online]

How to build the school of the future – An interview with Sjef Drummen [online]

Meet the school with no classes, no classrooms and no curriculum [online]

ระบบการศึกษาของเนเธอร์แลนด์ ประสบความสำเร็จด้านการปฏิรูปการศึกษา [online]

จุดเด่นการศึกษาเนเธอร์แลนด์มีอะไรบ้างมาดูกัน [online]

4 จุดเด่นการเรียนในเนเธอร์แลนด์ [online]

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก