คุณภาพการศึกษา บทเรียนที่ดีของต่างประเทศกับการปรับใช้ในบริบทไทย

18,168 views
15 mins
February 26, 2021

          การยกระดับคุณภาพการศึกษาจำเป็นต้องเรียนรู้บทเรียนการทำงานของหลากหลายประเทศ ซึ่งมีจุดอ่อนจุดแข็ง ปัจจัยแวดล้อม และเงื่อนไขความสำเร็จในการขับเคลื่อนการศึกษาที่แตกต่างกัน อีกทั้งนิยามความสำเร็จยังสามารถมองได้หลายมิติ เช่น คะแนนสอบ การใช้งบประมาณ หรือการจัดการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สังคมซึ่งการศึกษามีคุณภาพมักมีปัจจัย 10 ประการ เป็นองค์ประกอบ

           1. มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการจัดการศึกษา และเชื่อว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม

           2. มีความเชื่อว่าการศึกษาเป็นเรื่องประโยชน์ของสาธารณะ ไม่ใช่เรื่องการแข่งขันของแต่ละครอบครัว

           3. มีความพยายามทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน

           4. มีครูคุณภาพสูง มีความเป็นนักวิชาชีพ และมีอิสระในการจัดการศึกษา

           5. มีพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกันระหว่างครู พ่อแม่ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

           6. มีนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

           7. มีการกระจายอำนาจและเสริมสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นในการจัดการศึกษา เอื้อให้นักปฏิบัติมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

           8. มีการสร้างความรับผิดรับชอบร่วมกัน

           9. มีการใช้ผลสอบและการวัดผลประมินผลเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างแท้จริง

           10. มีการเรียนรู้แนวคิดที่ดีในการจัดการศึกษาจากหลากหลายประเทศ เพื่อประยุกต์เป็นแนวทางที่เหมาะสมในแบบของตนเอง

บทเรียนจากสิงคโปร์

          สิงคโปร์มีการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาอย่างรวดเร็วตลอดช่วงเวลาสามทศวรรษ รัฐบาลสิงคโปร์ได้กำหนดเป้าหมายที่พึงประสงค์ (Desired Outcomes of Education-DOE) เพื่อใช้ในการทำงานกับครูและนักการศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียน เป้าหมายดังกล่าวมีมายาวนาน 25 ปี โดยปรับเปลี่ยนรายละเอียดปลีกย่อยตามยุคสมัยให้มีชีวิตชีวา เช่น เรื่องทักษะศตวรรษที่ 21

           ผู้ที่ผ่านกระบวนการศึกษาของสิงคโปร์ถูกคาดหวังให้มีคุณลักษณะ 4 ด้าน

           1. เป็นคนที่เชื่อมั่นและแน่วแน่ในตนเอง มีความชัดเจนเรื่องผิดถูก รู้จักปรับตัว คิดอ่านอย่างเป็นตัวของตัวเอง ตรงไปตรงมา และรู้จักสื่อสารแลกเปลี่ยนกับผู้คน

           2. เป็นคนที่รู้จักรับผิดชอบการเรียนรู้ของตน มีความมานะในการบรรลุการเรียนรู้

           3. เป็นผู้ให้ที่กระฉับกระเฉง มีศักยภาพในการทำงานเป็นทีม มีความริเริ่มอยู่เสมอ รู้จักคาดคะเนความเสี่ยงต่างๆ สร้างสรรค์และมุ่งความเป็นเลิศ

           4. เป็นพลเมืองผู้เอาธุระ มีสำนึกความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง รู้ทันความเป็นไปของบ้านเมือง และเอาธุระในกิจกรรมที่ดีกว่าของเพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

           กรณีของประเทศไทยมีการกำหนดเป้าหมายที่พึงประสงค์ไว้ในมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ 2561 โดยมีอยู่ 3 ด้าน ประกอบด้วย ผู้เรียนรู้ (Learner Person) เพื่อสร้างงานและคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation Co-creator) เพื่อสังคมที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และพลเมืองที่เข้มแข็ง (Active Citizen) เพื่อสันติสุข ทั้ง 3 ด้านนี้กำลังถูกนำไปพัฒนาเป็นกรอบมาตรฐานคุณวุฒิบัณฑิตและหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่

บทเรียนจากฟินแลนด์

          ประเทศไทยเริ่มรู้จักการศึกษาฟินแลนด์อย่างแพร่หลายจากหนังสือ Finnish Lesson 2.0 ของ Pasi Sahlberg (ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก) ผู้เขียนเล่าถึงความพยายามในการยกระดับการศึกษาของฟินแลนด์เป็นเวลาเกือบ 40 ปี โดยมีความเชื่อว่าจะต้องทำให้โรงเรียนใกล้บ้านมีคุณภาพเท่าเทียมกัน เพื่อให้เด็กๆ เข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีรวมทั้งการศึกษาที่ดี

           การศึกษาของฟินแลนด์มีความยืดหยุ่นสูงและคำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ เด็กๆ ที่เลือกเรียนสายสามัญศึกษาหรืออาชีวศึกษา สามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยและได้รับการยอมรับจากสังคมเหมือนกัน

           การศึกษามีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ สามารถค้นพบตนเองและสิ่งที่สนใจ วิสัยทัศน์ของโรงเรียนฟินแลนด์คือสอนในชั้นเรียนน้อยลง แล้วจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนเฉพาะบุคคลมากขึ้น มุ่งเน้นทักษะทางสังคม มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมีภาวะผู้นำ

           ปัจจุบันฟินแลนด์ได้กำหนดสมรรถนะผู้เรียน (Student Core Competencies) ไว้ 7 ด้าน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงการปรับเปลี่ยนให้เป็นการศึกษาฐานสมรรถนะ (Competency-based Education) ซึ่งยังอยู่ระหว่างกระบวนการพัฒนาร่วมกันของมหาวิทยาลัยและโรงเรียนหลายแห่ง

           ความโดดเด่นของโรงเรียนฟินแลนด์ไม่ได้อยู่ที่กายภาพแต่เป็นเรื่องคุณภาพครู มีข้อกำหนดว่าครูต้องจบการศึกษาอย่างน้อยระดับปริญญาโท ครูเป็นงานที่มีความรับผิดรับชอบสูงและมีอิสระทางวิชาการสูง แม้ครูจะไม่ใช่อาชีพที่ทำเงินอันดับต้นๆ แต่เป็นหนึ่งในอาชีพในดวงใจของคนหนุ่มสาว เพราะเชื่อว่าครูคือผู้สร้างอนาคตของประเทศ

การพัฒนาครูก่อนประจำการของโรงเรียนฝึกสอนครูวิกิ (Vikii Teacher Training School)
การพัฒนาครูก่อนประจำการของโรงเรียนฝึกสอนครูวิกิ (Viikii Teacher Training School)
สนามกีฬาของโรงเรียนฝึกสอนครูวิกิ (Vikii Teacher Training School) มีมุมสำหรับให้ครูและผู้มาศึกษาดูงานได้สังเกตการสอนโดยไม่รบกวนผู้เรียน
สนามกีฬาของโรงเรียนฝึกสอนครูวิกิ (Viikii Teacher Training School) มีมุมสำหรับให้ครูและผู้มาศึกษาดูงานได้สังเกตการสอนโดยไม่รบกวนผู้เรียน
ห้องสมุดของโรงเรียนมีขนาดไม่ใหญ่ เพราะเด็กๆ สามารถไปใช้บริการห้องสมุดของเมืองอย่างเต็มที่
ห้องสมุดของโรงเรียนมีขนาดไม่ใหญ่ เพราะเด็กๆ สามารถไปใช้บริการห้องสมุดของเมืองอย่างเต็มที่

บทเรียนจากออสเตรเลีย

          ออสเตรเลียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความเคลื่อนไหวด้านการศึกษาอย่างน่าสนใจตลอด 20 กว่าปีมานี้ หลักสูตรแบ่งเนื้อหาออกเป็น 8 สาระการเรียนรู้ ทุกสาระการเรียนรู้ถูกกำกับไว้ด้วยสมรรถนะผู้เรียนที่สอดคล้องกับแนวโน้มของโลก รวมทั้งมีการจัดลำดับความสำคัญของการบูรณาการการเรียนรู้ โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว เช่นเรื่องคนพื้นถิ่น ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ขยายไปถึงเรื่องของประเทศอื่นและของโลก

การออกแบบหลักสูตรของออสเตรเลีย (Australian Curriculum)
การออกแบบหลักสูตรของออสเตรเลีย (Australian Curriculum)

           การติดตามความก้าวหน้าของการเรียนการสอน มีลักษณะเป็นการทบทวนการทำงานของโรงเรียน (School Review) นำผลการเรียนของเด็กมาเป็นโจทย์ในการปรับปรุงการสอน ไม่ใช่การประเมินโรงเรียน (School Assessment)

           การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรระดับชาติเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละสาระวิชา เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้พูดคุยถกเถียงจนเห็นแนวทางร่วมกันแล้วจึงนำไปทดลองใช้ รัฐบาลกลางมีหน้าที่กำหนดค่านิยมหลัก (Core Value) ของหลักสูตรเพื่อเป็นกรอบการทำงาน แต่ละมลรัฐมีอิสระในการออกแบบหลักสูตรของตัวเอง และมีความยืดหยุ่นเมื่อแต่ละโรงเรียนนำไปปรับใช้

           ที่โรงเรียนประถมศึกษาวูรันนาพาร์ค (Wooranna Park Primary School) มีคาบการเรียนรู้อิสระ (Learning Agreement Period) เปิดโอกาสให้นักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.2 ขึ้นไปเลือกเรียนรู้สิ่งที่ตนอยากทำ เช่น ทำหุ่นยนต์ อ่านหนังสือ อ่านนิทาน ทำละคร ร้องเพลง หรือเล่นกีฬา

           หลายปีมานี้มีคนต่างชาติอพยพเข้ามาในออสเตรเลียจำนวนมาก รวมถึงเด็กๆ ซึ่งไม่รู้ภาษาอังกฤษ โรงเรียนจึงใช้วิธีสอนแบบควบชั้นระหว่าง ป.1 – ป.2 ระหว่าง ป.3 – ป.4 และระหว่าง ป.5 – ป.6 เพื่อให้เด็กที่มีพัฒนาการใกล้เคียงกันมาเรียนห้องเดียวกันและมีครูสอนแบบเป็นทีม โรงเรียนเปิดสอนภาษาถึง 8 ภาษา โดยผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการเป็นอาสาสมัครช่วยสอน

บรรยากาศของห้องเรียนที่เด็กร่วมกันคิด พ่อแม่ช่วยกันทำ
บรรยากาศของห้องเรียนที่เด็กร่วมกันคิด พ่อแม่ช่วยกันทำ

รับ ปรับ ใช้ บทเรียนจากต่างประเทศสู่การปฏิบัติในไทย

          จากแยกสามย่านถึงแยกปทุมวัน เป็นเส้นทางซึ่งความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาปรากฏอย่างเด่นชัด ย่านนี้มีทั้งโรงเรียนชั้นนำขนาดใหญ่และโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่ง เป็นที่มาของโจทย์ท้าทายของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการทดลองทำงานบนฐานคิดแบบโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community-SLC) และนำบทเรียนจากประเทศต่างๆ มาทดลองพิสูจน์ว่าโรงเรียนดีใกล้บ้านเป็นเรื่องที่เป็นไปได้

           โรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าโครงการคือโรงเรียนพุทธจักวิทยา ตั้งอยู่หลังวัดหัวลำโพง มีนักเรียนจำนวน 240 คน ซึ่งส่วนใหญ่มากจากชุมชนคลองเตยและชุมชนบ่อนไก่ และราว 70% และจำเป็นต้องทำงานพิเศษหลังเลิกเรียน มีครูจำนวน 24 คน ซึ่ง 60% มีอายุน้อยกว่า 30 ปี ทำให้โรงเรียนมีพลังใหม่ๆ ในการพัฒนาการเรียนการสอน

           แนวคิด SLC เชื่อมั่นใน 3 เรื่อง

           1. Public Philosophy ปรัชญาว่าด้วยส่วนรวมและความเป็นสาธารณะ ห้องเรียนและโรงเรียนคือพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของทุกคน ไม่มีใครเป็นเจ้าของเพียงลำพัง

           2. Democracy Philosophy ปรัชญาว่าด้วยประชาธิปไตย การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเคารพและเข้าอกเข้าใจ รับฟังเสียงของทุกคน มีความสัมพันธ์แนวราบ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและไม่ทอดทิ้งใครแม้แต่คนเดียวให้อยู่ลำพังในชั้นเรียน

           3. Excellence Philosophy ปรัชญาว่าด้วยความเป็นเลิศ เด็กทุกคนมีสิทธิพัฒนาตามศักยภาพบนพื้นฐานความแตกต่าง เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

           วิธีการทำงานแบบ SLC ใช้แนวคิดกระบวนการสอนงานและการเป็นพี่เลี้ยง (Coaching and Mentoring) และการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน (Lesson Study) รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้ความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้โรงเรียนเกิดความตื่นตัวตลอดเวลา สาระสำคัญประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ การสร้างความสัมพันธ์ในห้องเรียนใหม่ให้มีการฟังกันมากขึ้น การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ชวนให้เอาชนะโจทย์ท้าทาย (Jumping Task) และการเรียนรู้จากการลงมือทำงาน

           คณะวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเลือกจุดแข็งของ SLC มาจากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อังกฤษ ฯลฯ ในระยะแรก ครูไม่คุ้นเคยกับการมีคนอื่นเข้ามาในชั้นเรียน จึงเริ่มต้นโดยให้ครูเลือกคู่หูในการทำงานเพื่อช่วยกันดูแผนการสอนและเข้าไปสังเกตการสอนของเพื่อนครู เคล็ดลับคือควรเป็นครูคนละวิชาเพื่อไม่ให้จับผิดกัน แต่ช่วยให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กๆ ในชั้นเรียน หรือมุมมองที่เป็นประโยชน์ด้านอื่นๆ

           กระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนปรับให้มีการเรียนรู้แบบร่วมมือกันมากขึ้น (Collaborative Learning) ทุกคนเรียนรู้ไปพร้อมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้โดดเดี่ยว อาจทำงานเป็นคู่ เป็นทีม หรือแบบเดี่ยวสลับกันไป ห้องเรียนที่เคยเงียบ หรือมีเด็กนั่งหลับ หรือมีเด็กเรียนอ่อนที่ตามครูไม่ทัน เปลี่ยนเป็นห้องเรียนที่มีชีวิตชีวา โดยครูเปลี่ยนจากยืนบรรยายหน้าห้องเรียนกลายเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ให้โจทย์ที่ท้าทายแก่นักเรียน แล้วเดินรอบห้องเพื่อสังเกตการทำงานของนักเรียนอย่างใกล้ชิด

           โรงเรียนพุทธจักรวิทยาใช้แนวทาง SLC มาแล้ว 2 ปีครึ่ง โรงเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ครูเกิดวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำงาน การประชุมเปลี่ยนจากวาระที่ตึงเครียดเป็นวงสนทนาที่สร้างสรรค์ ครูเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีของกันและกัน เกิดบรรยากาศเชิงบวกในชั้นเรียน ในโรงเรียน และในห้องทำงาน นักเรียนเพลิดเพลินกับการเรียนรู้ และมีแรงผลักดันการเรียนรู้มาจากภายใน ผู้อำนวยการใกล้ชิดสนิทสนมกับนักเรียนเนื่องจากเดินเยี่ยมเยียนชั้นเรียนเป็นประจำทุกวัน นอกจากนี้ โรงเรียนพุทธจักวิทยาได้เป็นโรงเรียนคู่หูกับโรงเรียนวัดหัวลำโพงซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยใช้แนวคิด SLC

           ปัจจุบันประเทศไทยมีครูมากมายที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงการสอน พร้อมเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดประโยชน์ต่อการศึกษา และมองหาเครือข่ายภายนอกโรงเรียน หากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ เห็นความสำคัญของการทำงานเชื่อมโยงกับครู ก็จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดโรงเรียนดีในชุมชน คือโรงเรียนที่ตอบสนองต่อความหลากหลายของผู้เรียน อบอุ่นปลอดภัย และทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของโรงเรียน

วีดิทัศน์ เรื่อง adopt, adapt, apply การนำบทเรียนการทำงานที่ดีจากต่างประเทศสู่การทำงานในบริบทไทย

ที่มา

สรุปความจาก การบรรยาย เรื่อง adopt, adapt, apply การนำบทเรียนการทำงานที่ดีจากต่างประเทศสู่การทำงานในบริบทไทย โดย  ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ในการประชุม TK Forum 2020 “Finland Library and Education in the Age of Disruption” วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมเอส 31

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก