ในวันนี้ นักอ่านหลายๆ ท่านคงรู้จัก อดัม แกรนต์ (Adam Grant) หรือเคยได้ยินเกี่ยวกับผลงานของเขามาบ้าง เขาคือ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาองค์กรของสำนักธุรกิจวอร์ตัน (Wharton School) มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย และผู้เขียนหนังสือ ‘เบสต์เซลเลอร์’ หลายเล่ม
ผลงานของเขา Think Again, Give and Take, Originals, Option B, Power Moves ถูกแปลไปเป็นภาษาอื่นๆ กว่า 45 ภาษาทั่วโลก นักอ่านและนักรีวิวจำนวนมากคิดว่ามันไม่เหมือนกับหนังสือฮาวทูทั่วไปที่ประกอบไปด้วยถ้อยคำใหญ่ๆ ฟังดูดี เพราะทุกเล่มล้วนอัดแน่นไปด้วยกรณีศึกษา ทฤษฎี และข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์ และที่หลายคนเห็นพ้องกัน คือเขามักจะเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามย้อนกลับ หรือ ‘คิดแย้ง’ มองเรื่องราวที่คุ้นเคยในมุมใหม่ ท้าทายขนบความเชื่อเดิมในการทำงานและบริหารจัดการองค์กร
“เขาเป็นคนที่โดดเด่น น่าประทับใจมาก” ผู้ฟังการบรรยายพิเศษของแกรนต์แสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งดึง ‘Give and Take’ หนังสือเล่มแรกที่ส่งให้ชื่อ อดัม แกรนต์ ติดลมบนกลายเป็นนักเขียนที่มีผลงานเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางออกมาโชว์
แนวคิดที่นำเสนอใน ‘Give and Take’ แตกต่างจากความเชื่อสามัญในด้านการบริหารองค์กร จึงกลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง แทนที่เขาจะพูดถึงผลประโยชน์หรือหลักในการทำงานให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด แกรนต์กลับนำเสนอแนวคิดว่า หากเรารู้จัก ‘แบ่งปัน’ ทรัพยากรที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นเวลา หรือความรู้ความเชี่ยวชาญ เรามีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต
“ผมสงสัยมานานแล้วว่าทำไมคนเราถึงประสบความสำเร็จไม่เท่ากัน” แกรนต์เปิดเผยในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง “พอลองศึกษาวิจัย ข้อมูลก็บ่งชี้ว่าปัจจัยที่พาไปสู่ความสำเร็จคือ การทำงานหนัก พรสวรรค์ และโชคชะตา ผมคิดว่า ไม่นะ มันต้องมีปัจจัยอื่นนอกเหนือจากปัจจัยส่วนบุคคลเหล่านั้นด้วยสิ ผมเลยศึกษาข้อมูลให้ลึกซึ้งขึ้นไปอีก”
แล้วแกรนต์ก็เริ่มตั้งคำถามในมุมกลับ “หลายๆ คน เล่าว่าถ้าเขาประสบความสำเร็จ ร่ำรวยมั่งคั่งตามที่ต้องการแล้ว เขาจะเริ่มคืนกำไรให้กับสังคมอย่างไรบ้าง ผมฉุกใจคิดขึ้นมาทันทีว่า หรือแท้จริงแล้ว มันควรจะเกิดขึ้นในทางกลับกัน คุณควรจะเป็นผู้ให้ก่อน คุณถึงจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน”
แกรนต์แบ่งกลุ่มคนในองค์กรออกเป็น ‘Taker’ (ผู้รับ) ‘Giver’ (ผู้ให้) และ ‘Matcher’ (ที่ทั้งรับและให้) Taker จะเลือกทำแต่งานที่ตนเองคิดว่าได้ประโยชน์ ในขณะที่ Giver จะทำงานที่หลากหลายกว่า ทั้งงานของตนเอง งานเพื่อสังคม งานที่ปรึกษา ประชากรส่วนใหญ่จะเป็น Matcher ซึ่งเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ Giver ที่ก้าวข้ามผ่านความสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นผู้แบกภาระหนักในองค์กรได้ ก็จะเรียนรู้ เติบโต และประสบความสำเร็จ
‘Originals’ หนังสือเล่มถัดไปของเขาก็มีที่มาอันน่าทึ่งไม่ต่างกัน เพราะมันถูกจุดประกายจากการนั่งฟังบรรยายของ ไมค์ ฮุสแมน (Mike Housman) ในงานประชุมวิชาการ ซึ่งบอกเล่าผลการศึกษาว่าคนที่ใช้เว็บเบราว์เซอร์ Chrome หรือ Firefox มีแนวโน้มจะสร้างผลงานที่ดีกว่าคนที่ใช้เบราว์เซอร์ตัวอื่นๆ ที่ติดมากับตัวเครื่อง เช่น IE หรือ Safari นั่นเป็นเพราะบุคคลเหล่านี้ คือคนที่ตั้งคำถามกับระบบ ไม่ยอมทำตามสิ่งที่สังคมกำหนด และพร้อมที่จะค้นหาแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาและการทำงาน
เพียงเท่านั้น งานวิจัยเกี่ยวกับความเป็น ‘Originals’ หรือความมีเอกลักษณ์และแตกต่าง เพื่อสร้างเสริมความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในที่ทำงานจึงเกิดขึ้น และกลายเป็นอีกหนึ่งงานเขียนที่สร้างชื่อสร้างผลงานให้กับแกรนต์ทันที เขาสัมภาษณ์ ‘Originals’ หรือคนที่นิยมคิดต่าง ไม่ค่อยจะเดินตามรอยที่สังคมกำหนดไว้เพื่อเก็บข้อมูล แกรนต์เชื่อว่าคนเราทุกคนมีไอเดียใหม่ และตั้งคำถามกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะนำออกมาลงมือทำหรือไม่เท่านั้นเอง และอัจฉริยะก็ไม่ได้มีไอเดียที่ ‘ดีกว่า’ คนทั่วไป พวกเขาแค่มีไอเดียมากกว่า และสามารถนำมาลงมือทำจนเกิดผลได้เท่านั้นเอง
Think Again หนังสือของแกรนต์ที่วางแผงในปี 2564 กลายเป็นหนังสือแนะนำขึ้นหิ้งอีกเล่มของนักคิด ผู้บริหารบริษัทระดับโลก และนักการเมืองหลายคน เพราะแก่นของหนังสือเล่มนี้ ชวนให้หันกลับมาขบคิดทบทวนว่าสิ่งที่เราเคยคิดเอาไว้ ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดจริงหรือ แกรนต์ชี้ชวนให้เห็นว่า ความถ่อมตนโดยไม่คิดว่าตนเองคิดถูกเสมอ ความช่างสงสัย หมั่นตั้งคำถามตรวจสอบความคิดและความเชื่อของตนเอง อาจนำไปสู่การสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ก็เป็นได้ การคิดใหม่ (rethink) จึงไม่ใช่แค่ทักษะ แต่เป็นทัศนคติที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จ
ในหนังสือเล่มล่าสุด Hidden Potential แกรนต์มองต่างจากนักเขียนสายพัฒนาองค์กรทั่วไปที่เชื่อว่าคนที่ประสบความสำเร็จต้องมีคุณลักษณะที่โดดเด่นหรืออัจฉริยภาพบางอย่าง เขากลับคิดว่าการพัฒนาตนเองนั้นสามารถทำได้ในทุกคน เพียงแต่ว่าต้องมีกระบวนการที่ชัดเจนเท่านั้นเอง
ทุกวันนี้ แกรนต์เป็นหนึ่งในสิบนักคิดผู้ทรงอิทธิพลด้านการจัดการ เป็นหนึ่งในนักพูดในงาน TED ที่ได้รับความนิยมกว้างขวาง มีผู้เข้าชมถึงกว่า 25 ล้านครั้ง เป็นเจ้าของรายการพอดแคสต์ ‘WorkLife’ และ ‘Re:Thinking’ ซึ่งเป็นที่นิยมติดชาร์ตในลำดับต้นๆ และเขาก็ยังเป็นนักวิชาการด้านจิตวิทยาองค์กรคนเดิม ที่มุ่งมั่นจะช่วยให้ผู้คนค้นพบความหมาย แรงจูงใจในการทำงาน รวมถึงการใช้ชีวิตแบบสร้างสรรค์และเอื้อเฟื้อแก่ผู้อื่นในสังคม
“อดัม เป็นผู้มีอิทธิพลในแบบที่เมื่อสิบปีก่อนคงยากที่จะเข้าถึงตัวง่ายๆ ผู้บริหารธุรกิจทั้งหลายเข้ามาขอคำปรึกษาจากเขาเรื่องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร” โฮวี่ โรสแมน รองประธานทีมฟุตบอล The Eagles ที่เคยยึดแกรนต์เป็นที่ปรึกษาในการคัดเลือกทีมฟุตบอลและทีมงานได้กล่าวไว้
“เขาสามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของบริษัทเหล่านั้นได้ ทั้งที่บางแห่งสางปัญหาเรื้อรังพวกนั้นไม่ออกมานานเป็นสิบๆ ปี” และนั่นก็อาจเป็นเพราะเขามองปัญหาต่างๆ ด้วยมุมมองที่ต่างออกไป
ผู้บริหารระดับสูงหลายคนมองว่า เขาไม่ใช่แค่ ‘กูรู’ แต่เป็น ‘นักวิชาการ’ คำแนะนำทุกครั้งเหมือนกับการทำวิจัย คือผ่านการตั้งคำถามที่ชาญฉลาด และตอบคำถามด้วยหลักฐานผนวกกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านมาบริษัทใหญ่ๆ ได้เชิญแกรนต์ให้เป็นที่ปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาในองค์กร เขาแนะนำให้กูเกิลศึกษาวัฒนธรรมองค์กรของตัวเอง เพื่อค้นหาแนวทางที่จะทำให้พนักงานค้นพบความหมายในอาชีพที่จะนำไปสู่การเติบโตงอกงามของบริษัท เขาช่วยโกลด์มาน แซค (Goldman Sachs) คิดวิธีสร้างแรงดึงดูดและรักษากำลังคนให้มากขึ้น เขาช่วยให้ผู้บริหารของจอห์นสัน & จอห์นสัน วางโครงสร้างบริษัทใหม่ที่เอื้อต่อการเฟ้นหาไอเดียนวัตกรรม อีกทั้งยังชวนหลายๆ องค์กรมาพิจารณาปัจจัยความเสี่ยงในองค์กรเพื่อเพิ่มความราบรื่นในการทำงาน
ที่มา
บทความ “The organizational psychologist who encourages us to give more and act like an original” จาก thedecisionlab.com (Online)
บทความ “Adam Grant Is (Not) Superman” จาก phillymag.com (Online)
บทความ “Who is Adam Grant?” จาก innovolo-group.com (Online)
บทความ “Give and Take: An Interview with Adam Grant” จาก thinkers50.com (Online)
บทความ “Is Giving the Secret to Getting Ahead?” จาก nmytimes.com (Online)
บทความ “How Do You Spot a Nonconformist? You Can Start with Their Internet Browser” จาก npr.org (Online)