‘พื้นที่สาธารณะ เทศะรังสรรค์ สถานที่แบ่งปัน’ แนวคิดเชื่อมโยงห้องสมุดกับการพัฒนาเมือง

1,658 views
10 mins
January 11, 2021

          คริสเตียน ลอเออร์เซน (Christian Lauersen) ผู้อำนวยการห้องสมุดประชาชนรอสกิลด์ (Roskilde) เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เป็นคนที่สนใจเรื่องการพัฒนาชุมชน การสร้างความเป็นธรรมทางสังคม และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เขามีความเชื่อว่าห้องสมุดคือสถาบันที่สำคัญยิ่งของชุมชน มีบทบาทส่งเสริมผู้คนให้เข้าถึงความรู้และข้อมูลที่เปิดกว้าง หลากหลาย และไม่แบ่งแยกกีดกัน ซึ่งก่อให้เกิดคุณค่าอย่างใหญ่หลวงต่อชุมชน โดยบรรณารักษ์เป็นปัจจัยและสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของห้องสมุด (อันที่จริง เขามิได้ใช้คำว่า librarian แต่ใช้ว่า skilled library worker ซึ่งมีความหมายครอบคลุมกว้างขวางไปถึงบุคลากรห้องสมุดที่ทำงานด้านอื่นๆ ด้วย)

           คริสเตียนทำงานที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนมาอย่างยาวนาน ก่อนจะย้ายมาทำงานที่ห้องสมุดประชาชนรอสกิลด์เมื่อกันยายน 2018 ในตำแหน่งผู้อำนวยห้องสมุดและงานบริการประชาชน สังกัดเทศบาลรอสกิลด์ (Roskilde Municipality) นอกจากจะเป็นบรรณารักษ์อาชีพแล้ว เขายังเป็นบลอกเกอร์และเปิดบลอกชื่อ The Library Lab อีกด้วย

           แปลเก็บความบางส่วนจากการบรรยายของเขา เรื่อง “ที่ว่างไม่ใช่แค่ที่ว่าง ห้องสมุดในฐานะที่เป็นพื้นที่แบ่งปัน และเหตุผลที่ห้องสมุดมีความสำคัญต่อชุมชน” (A room is not just a room: The library as shared place and why it matters to communities) ในการประชุมประจำปี CILIPS Conference เมืองดันดี สก็อตแลนด์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2019 ซึ่งเรียบเรียงเป็นบทความฉบับเต็มที่นี่ ชมสไลด์ประกอบการบรรยายได้ ที่นี่ รายละเอียดการประชุม CILIPS ดูได้ที่นี่

          คริสเตียน ลอเออร์เซน เริ่มต้นการบรรยายด้วยคำถาม 2 ข้อ ซึ่งเขาบอกว่ามีความเกี่ยวเนื่องกันเมื่อพูดถึงห้องสมุดในฐานะพื้นที่สาธารณะที่ใช้แบ่งปันกัน

          ข้อแรกคือ อะไรที่ทำให้เกิดสถานที่พิเศษ ซึ่งเป็นที่ที่ทำให้เรารู้สึกดี สะดวกสบาย ปลอดภัย และเชื้อเชิญ คำตอบอาจมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแสงไฟ กลิ่น เสียง ผู้คน การออกแบบ ความรับรู้ของตัวเราที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานที่นั้นๆ หรืออาจจะเป็นคุณค่าของสถานที่ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นตัวเรา

          นี่เป็นความรู้สึกเชิงอัตวิสัยที่คนแต่ละคนจะให้ความหมายกับสถานที่พิเศษของตัวเอง แต่มันจะมีประโยชน์อย่างมากเมื่อขบคิดว่า อะไรล่ะที่ทำให้เรารู้สึกดีและเป็นส่วนหนึ่งซึ่งกลมกลืนกับสถานที่แบบนั้น เพื่อที่จะได้เริ่มคิดต่อไปว่าแล้วเราจะทำให้ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นภายในพื้นที่ห้องสมุดได้อย่างไร

          คำถามข้อสองคือ ทำไมเวลาที่มีการถ่ายทำการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการจึงมักใช้ฉากหลังเป็นห้องสมุด เขาไม่แน่ใจว่านี่เป็นสิ่งที่เกิดเฉพาะคนเดนมาร์ก (เดนิช) หรือว่าเป็นแนวโน้มทั่วโลก แต่คิดว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะผู้ถ่ายทำคงต้องการให้บุคคลผู้ให้สัมภาษณ์ดูมีความเป็น ‘ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ’

แล้วทำไมต้องเป็นห้องสมุดล่ะ? ทำไมไม่เป็นมหาวิทยาลัย?

          เหตุผลสำคัญที่สุดก็เพราะห้องสมุดเป็นสถานที่ที่มีจุดเด่นซึ่งผู้คนคุ้นเคยและจดจำได้ง่าย นั่นก็คือหนังสือ ในขณะที่มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ที่ไม่ใด้มีจุดเน้นหรือภาพลักษณ์ซึ่งมีความเจาะจงแบบห้องสมุด นอกจากนั้นยังมีคุณค่าบางอย่างที่เชื่อมโยงกับความเป็นห้องสมุด อย่างแรกเลยก็คือความน่าเชื่อถือ อย่างที่สองคือความรู้และภูมิปัญญา (หนังสือเป็นสัญลักษณ์ที่เด่นชัดและทรงพลังมากสำหรับคุณค่าในข้อนี้) และอย่างที่สามคือห้องสมุดเป็นสถานที่ของทุกคน ดังนั้นถ้าต้องการที่จะสื่อสารเนื้อหาเชิงวิชาการจากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญไปยังคนทุกคน จึงเป็นเรื่องสำคัญทีเดียวที่ต้องจัดฉากจัดเวทีสัมภาษณ์กันในห้องสมุด

          คำถามทั้งสองข้อข้างต้นได้รวบเอาแก่นสาระที่ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่กายภาพเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งขึ้น แม้ว่าโลกจะเชื่อมโยงกันกลายเป็นดิจิทัลมากขึ้นก็ตาม การสร้างสรรค์พื้นที่แบ่งปันเพื่อให้ผู้คนได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ผูกพันกัน เติบโตไปด้วยกัน และมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน คือสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาชุมชน

          และห้องสมุดในฐานะสถานที่ คือหนึ่งในพื้นที่สาธารณะที่ใช้แบ่งปันกันและมีความสำคัญมาก ดังนั้นการพูดถึงเรื่องของพื้นที่สาธารณะผนวกกับวิธีการใช้งานพื้นที่สาธารณะ จึงมิใช่แค่เรื่องของการออกแบบตกแต่งหรือสถาปัตยกรรมห้องสมุดเท่านั้น

การใช้งานพื้นที่คือการทำงานกับผู้คนและชุมชน

          อาคารไม่ใช่เป็นเพียงแค่อาคาร ที่ว่างไม่ใช่เป็นเพียงแค่ที่ว่าง เราจำเป็นต้องเข้าใจผู้คนและชุมชนจึงจะประสบความสำเร็จในการทำงานพัฒนาพื้นที่ คริสเตียนบอกว่าเขาทำงานอยู่ใน ‘ธุรกิจผู้คน’ (people business) หรือเป็นงานที่เกี่ยวกับคน บ่อยครั้งเขาจึงต้องเตือนตัวเองอยู่บ่อยๆ ถึง ‘ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์’ (Maslow’s hierarchy of needs) เมื่อต้องทำงานพัฒนาห้องสมุด

          อับราฮัม มาสโลว์ นำเสนอทฤษฎีนี้เมื่อปี 1943 ชี้ว่ามนุษย์มีแรงจูงใจและถูกขับดันตามความต้องการในชีวิตที่แตกต่างกันไปเป็นลำดับขั้น ขั้นต่ำสุดหรือขั้นพื้นฐานเป็นความต้องการทางกายภาพ เช่นความต้องการน้ำ อาหาร และสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ความต้องการขั้นถัดไปคือความปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่แค่ความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพอนามัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสุขภาพทางการเงินด้วย (หมายถึงหลุดพ้นจากความยากจน – ผู้แปล)

          ขั้นถัดไปสำคัญมากคือความรักและความรู้สึกได้เป็นเจ้าของ จะเห็นว่ามนุษย์ต้องการครอบครัว ต้องการเพื่อน ต้องการคนรัก ต้องการมีความรู้สึกผูกพันกับบางสิ่งที่นอกเหนือไปจากตัวเอง การที่คนจำนวนมากกลายเป็นพวกซึมเศร้า โดดเดี่ยว วิตกกังวล หดหู่ ก็เพราะขาดความรักและความรู้สึกได้เป็นเจ้าของ ความต้องการดังกล่าวนี้บางทีอาจเหนือกว่าความต้องการทางกายภาพและความต้องการความปลอดภัยเสียด้วยซ้ำ ขึ้นอยู่กับแรงกดดันของกลุ่มคนที่แวดล้อมด้วยว่ารุนแรงแค่ไหน

          ขั้นต่อไปคือความต้องการรู้สึกได้รับการเคารพนับถือโดยคนที่แวดล้อม นั่นรวมไปถึงความรู้สึกเคารพนับถือและภาคภูมิใจในตนเองด้วย ความเคารพนับถือเป็นสัญลักษณ์ของความปราถนาของมนุษย์ที่อยากได้รับการยอมรับและมีคุณค่าในสายตาคนอื่น ผู้คนจึงมักเข้าไปข้องเกี่ยวในวิชาชีพที่เน้นความสามารถเฉพาะหรืองานอดิเรกเพื่อที่จะเป็นที่จดจำได้ของคนอื่น การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทำให้คนเกิดความรู้สึกเป็นผู้ให้และเป็นคนที่มีค่า

          ความต้องการขั้นสุดท้ายซึ่งเป็นขั้นสูงสุดคือการตระหนักรู้ถึงศักยภาพที่ตนเองมีอยู่และได้ใช้ศักยภาพนั้นอย่างเต็มที่ มาสโลว์อธิบายความต้องการในระดับนี้ว่าเป็นความปรารถนาของมนุษย์ที่อยากจะปลดปล่อยศักยภาพตัวเองให้มากที่สุดในการลงมือทำสิ่งต่างๆ จนเป็นผลสำเร็จ เท่าที่คนๆ หนึ่งจะสามารถทำได้

ทฤษฎีมาสโลว์ มาเกี่ยวข้องกับเรื่องสถานที่ได้อย่างไร?

          ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่าคนเราตอบสนองกับสิ่งแวดล้อม และทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ก็เป็นแนวทางง่ายๆ ที่สามารถจับมาโยงกับเรื่องของการตอบสนองกับพื้นที่ เพราะว่าสภาพแวดล้อมทางกายภาพมอบให้ทั้งโอกาสและข้อจำกัดแก่เรา มันมีพลังในการปรับเปลี่ยนตัวเรา เชื่อมโยงเรา และทำให้เราเติบโต หรือกระทั่งทำให้เรารู้สึกเศร้าหมองหรือไม่สบายใจก็ได้

          คริสเตียนยกตัวอย่าง 2 เรื่องที่แสดงให้เห็นถึงพลังของพื้นที่สาธารณะที่ใช้แบ่งปันกัน

          เรื่องแรก คริสเตียนบอกว่าเขารักเมืองเบอร์ลิน ทั้งที่ไม่มีชีวิตที่เป็นทางการใดๆ เกี่ยวข้องกับเมืองนี้ ไม่มีญาติ ไม่ได้ทำงานที่นี่ เขาแค่รู้สึกรักเมืองนี้ เขาจึงพยายามหาคำตอบว่าทำไม คำตอบนั้นต้องย้อนกลับไปที่คำถามแรกสุดที่ว่า “อะไรที่ทำให้เกิดสถานที่พิเศษ” เบอร์ลินเป็นเมืองที่มีพื้นที่สาธารณะที่ใช้แบ่งปันกันขนาดใหญ่จำนวนมาก ที่นี่มีสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวกว่า 2,500 แห่ง สวนสาธารณะเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อหรือประตูไปสู่ชุมชนรายรอบทั่วทั้งเมือง เขาเพียงแค่นั่งลงบนพื้นที่สาธารณะสักแห่งก็สามารถเชื่อมต่อกับชุมชนรอบข้างได้ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีชีวิตชีวา แม้ว่าเขาจะไม่ได้พูดคุยกับใครเลยสักคนแต่กลับรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

          เรื่องที่สอง มาจากงานวิจัยที่ช่วยเปิดหูเปิดตาและน่ากลัวไปพร้อมกัน ในปี 1995 เกิดคลื่นความร้อนแผ่เข้าไปยังเมืองชิคาโก มีผู้เสียชีวิตกว่า 700 คน นักศึกษาหนุ่มจากคณะสังคมวิทยา ชื่อ เอริก คลิเนนเบิร์ก ได้ทำการวิเคราะห์สถิติประชากรจากข้อมูลอัตราการเสียชีวิตและพบว่า อัตราการเสียชีวิตในพื้นที่ของคนยากจนจะสูงกว่าในพื้นที่ของคนรวย แต่เมื่อเขาวิเคราะห์ลึกลงไปกลับพบข้อเท็จจริงที่สร้างความประหลาดใจ กล่าวคือ ในชุมชนบางแห่งที่อยู่ในพื้นที่คนจน อัตราการเสียชีวิตกลับน้อยกว่าพื้นที่ของคนรวยอย่างเห็นได้ชัด

          การดูเพียงข้อมูลตัวเลขบนแผ่นกระดาษไม่ช่วยให้เขาได้ข้อสรุปที่เป็นแบบแผนอะไรได้มากนัก เขาจึงตัดสินใจขับรถออกไปดูพื้นที่จริง จึงได้พบว่าพื้นที่ชุมชนดังกล่าวมีสถานที่สาธารณะที่ใช้แบ่งปันกันอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ ห้องสมุด สวนสาธารณะ สนามกีฬา ร้านของชำ ซึ่งสถานที่เหล่านี้ล้วนทำหน้าที่ผูกพันเชื่อมต่อผู้คนภายในชุมชน จนนำมาสู่ข้อสรุปว่า สถานที่ที่ใช้แบ่งปันกันจะทำหน้าที่เสมือนสิ่งยึดเหนี่ยวทางสังคมให้กับชุมชน ซึ่งหมายความว่าในห้วงวิกฤต ชุมชนจะสามารถรับรู้ถึงกลุ่มเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว รู้ว่าใครเจ็บป่วย ใครเป็นผู้สูงวัย ใครกำลังพำนักอยู่ภายในบ้านซึ่งมีแนวโน้มจะได้รับอันตรายในกรณีที่คลื่นความร้อนแผ่เข้ามา หรือรู้ว่าใครบ้างที่ไม่ได้มาร่วมงานแต่งงานที่ห้องสมุดเมื่อคืน ซึ่งทำให้คนที่รู้จักต้องแวะไปเยี่ยมเยียน (ซึ่งก็คือการตรวจตราไปในตัว)

          เอริก คลิเนนเบิร์ก เรียกสิ่งนี้ว่า ‘โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม’

ห้องสมุดเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ไม่ใช่แค่แบ่งปันหนังสือ แต่ยังแบ่งปันสถานที่ด้วย

          ถนน บ้านพักอาศัย ระบบขนส่งสาธารณะ เหล่านี้คือโครงสร้างพื้นฐานหลักทั่วๆ ไป แต่โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ตามนิยามของคลิเนนเบิร์ก หมายถึง พื้นที่และองค์กรที่กำกับวิถีปฏิบัติของผู้คน ถ้าโครงสร้างแข็งแรงผู้คนก็จะมีส่วนร่วมสูงและเกิดความสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่เมื่อไรที่โครงสร้างอ่อนแอ ผู้คนไม่ใส่ใจกันและกัน ก็จะสนใจแต่เรื่องของตัวเองและขาดการมีส่วนร่วม

          โครงสร้างพื้นฐานทางสังคมคือสิ่งยึดเหนี่ยวที่โน้มนำให้คนในชุมชนเข้ามาใกล้ชิดกัน มันเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงไม่ต่างไปจากน้ำ พลังงาน หรือการสื่อสาร แม้ว่าจะจับต้องมองเห็นยาก แต่ถ้าเราละเลยโครงส้างพื้นฐานทางสังคม ก็มีแนวโน้มที่เราจะเติบโตขึ้นแบบแยกตัวโดดเดี่ยว ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียตามมา

          เอริก คลิเนนเบิร์ก ให้เหตุผลว่าห้องสมุดคือส่วนประกอบที่เข้มแข็งที่สุดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม เพราะดีเอ็นเอของห้องสมุดคือพื้นที่ชุมชนที่มีการแบ่งปัน (shared community space) ห้องสมุดไม่ใช่สถาบันประเภทที่ ‘สร้างขึ้นมาแบบเดียวแล้วเอาไปใช้ได้ทุกแห่ง’ (one-size fits all) แต่ต้องปรับให้สอดคล้องสนองตอบตามความต้องการของชุมชน

          ห้องสมุดเป็นสถานที่แบ่งปัน ทั้งด้านการใช้พื้นที่ การจัดกิจกรรม การบริการทรัพยากร และการเชื่อมโยงผู้คน บุคลากรห้องสมุดไม่ตัดสินผู้เข้ามาใช้และไม่มีอำนาจที่เป็นทางการ พวกเขาจึงปฏิบัติต่อผู้ใช้ทุกคนเหมือนๆ กันโดยไม่สนใจว่าใครจะร่ำรวยหรือยากจน ใครจะสอบได้คะแนนสูงหรือต่ำ พวกเขาอยู่ที่นี่เพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถทำงานได้ตามที่ต้องการจนสำเร็จ

          คริสเตียนมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า พื้นที่สาธารณะดังเช่นห้องสมุดมีความสำคัญต่อชุมชนในแง่การเชื่อมโยงผู้คน การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ และการส่งเสริมการพัฒนา ห้องสมุดไม่ใช่แค่สถานที่แบ่งปันหนังสือ แต่แบ่งปันสถานที่สำหรับชุมชนด้วย พื้นที่แบ่งปันกันยิ่งมีน้อยเท่าไรก็ยิ่งทำให้โครงสร้างพื้นฐานทางสังคมอ่อนแอ และนำมาสู่การแยกตัวโดดเดี่ยว ซึ่งถือว่าเป็นมะเร็งร้ายสำหรับชุมชน

          มีงานศึกษาวิจัยจำนวนมากที่ชี้ว่าคนซึ่งแยกตัวโดดเดี่ยวมีแนวโน้มจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับคนที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมดีหรือมีเพื่อนฝูงมาก คลื่นความร้อนในชิคาโกคือการพิพากษาต่อพลเมืองที่แยกตัวอยู่โดดเดี่ยว ขณะที่ในอังกฤษถึงกับต้องมีการตั้งรัฐมนตรีกระทรวงแห่งความเหงา1 ดังนั้นต่อให้มีน้ำไหลไฟสว่างการสื่อสารเยี่ยม (ความต้องการขั้นแรกตามทฤษฎีมาสโลว์) แต่คนเราก็ต้องการสถานที่สาธารณะของชุมชนที่ใช้แบ่งปันกันด้วย (ความต้องการขั้นที่สามตามทฤษฎีมาสโลว์)

          กรอบความคิดในการสร้างพื้นที่สาธารณะซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก คือแนวคิดที่เรียกว่า ‘เทศะรังสรรค์’ (placemaking) กรอบคิดนี้ ยาน เกล (Jan Gehl) สถาปนิกและนักออกแบบเมืองชาวเดนมาร์ก ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า “เริ่มที่ชีวิต แล้วจึงเป็นพื้นที่ จากนั้นจึงเป็นอาคาร” สิ่งซึ่งเกลหมายถึงก็คือ เราไม่ควรก่อสร้างอาคารเพื่อให้ได้ตัวอาคารที่เพียงแค่ให้คนเข้ามาใช้งานหรือพักอาศัย เพราะสิ่งที่เรียกว่าสถานที่นั้นอันที่จริงแล้วคือการถักทอก่อร่างสร้างชุมชนและชีวิต ดังนั้นเราจึงควรเริ่มต้นจากจุดนั้น

เทศะรังสรรค์ : เริ่มที่ชีวิต แล้วจึงเป็นพื้นที่ จากนั้นจึงเป็นอาคาร

          Placemaking หรือ เทศะรังสรรค์ เป็นกรอบความคิดที่นำไปใช้ได้หลากหลายมุม ทั้งเรื่องของการวางแผน การออกแบบ และการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะ กล่าวโดยย่อ เทศะรังสรรค์ เป็น “เรื่องเกี่ยวกับการสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะเพื่อส่งเสริมสุขภาวะ ความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน” การนำแนวคิดนี้มาใช้กับบริบทห้องสมุด โดยเฉพาะห้องสมุดประชาชน ก็อาจมีความหมายเฉพาะและแคบลง กล่าวคือ เป็น “เรื่องเกี่ยวกับการสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะที่ส่งเสริมชุมชนวิชาการและประชาสังคมให้มีความสามารถในการเรียนรู้ การสำรวจค้นคว้า การเชื่อมโยงกันและกัน และความรู้สึกเป็นเจ้าของและต้องการมีส่วนร่วม”

          ศิลปะของ ‘เทศะรังสรรค์’ นั้นคือการสร้างสรรค์ที่วางอยู่บนหลักการสำคัญเพียงไม่กี่อย่าง ซึ่งอาจนำมาประยุกต์เข้ากับการสร้างสรรค์ห้องสมุดได้ดังต่อไปนี้

          ชุมชนรู้ดีที่สุด ดังที่เกลได้ชี้เอาไว้ เราไม่ได้สร้างพื้นที่และอาคาร (ห้องสมุด) สำหรับให้เป็นพื้นที่และอาคารโดยตัวของมันเอง เราสร้างมันขึ้นมาเพื่อผู้คน เพื่อชุมชน คนจึงเป็นศูนย์กลางของสถานที่ที่เราสร้างขึ้น ดังนั้นจงคุยกับพวกเขา รับฟังพวกเขา เชื้อเชิญพวกเขาให้เข้าร่วมในกระบวนการ …(อย่าลืมว่า) ห้องสมุดคือธุรกิจผู้คน (people business) หรืองานที่เกี่ยวกับคน

          สถานที่ ไม่ใช่การออกแบบ เมื่อจะก่อสร้างห้องสมุดในชุมชน ไม่ควรมุ่งให้ความสนใจเรื่องการออกแบบตัวอาคารห้องสมุดเพียงเท่านั้น แต่ควรใส่ใจให้มากกับความสัมพันธ์ที่มีต่อภูมิทัศน์ เมือง และอาคารที่อยู่แวดล้อม รวมถึงชุมชนต่างๆ ที่อยู่โดยรอบด้วย

          ลงมือทำและปฏิบัติด้วยการสังเกตการณ์ หมั่นสังเกตว่าพื้นที่สาธารณะถูกใช้ไปอย่างไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์และช่วยให้เราเข้าใจว่าชุมชนนั้นชอบหรือไม่ชอบอะไรต่อสิ่งที่เรากำลังทำ จงทำตัวเหมือนนักมานุษยวิทยาและออกไปสังเกตชุมชนของเราซะบ้าง

          เรียกร้องวิสัยทัศน์ เมื่อตัดสินใจทำ เทศะรังสรรค์ ให้ประสบผลสำเร็จ เราต้องมีวิสัยทัศน์ว่าเป้าหมายที่จะมุ่งไปคืออะไร วิสัยทัศน์ไม่ควรสะท้อนหมุดหมายของคนเพียงคนเดียวหรือมุ่งไปที่เรื่องสถาปัตยกรรม แต่ควรสะท้อนถึงชุมชน ถามตัวเองว่าห้องสมุดต้องการจะเป็นอะไรหรือมีบทบาทอย่างไรเพื่อชุมชนนั้นๆ

          เทศะรังสรรค์เป็นกระบวนต่อเนื่อง ไม่มีวันที่เราจะทำ ‘เทศะรังสรรค์’ แล้วเสร็จ เพราะชุมชนเปลี่ยนแปลงตลอดและความต้องการพื้นที่สาธารณะก็เปลี่ยนไปด้วย การทำงานต่อเนื่องให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ก็อาจสร้างความแตกต่างมหาศาลให้เกิดขึ้นมาได้

          โดยสรุป การสร้างสรรค์พื้นที่ที่ดีตามแนวคิด ‘เทศะรังสรรค์’ คือการที่พื้นที่นั้นสามารถรองรับชีวิตสาธารณะได้ดี เป็นพื้นที่ที่สามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของเรา เป็นพื้นที่ที่เราสามารถค้นพบสถานที่ (เรื่องราว) ใหม่ๆ เป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถเชื่อมต่อกับผู้คนและเข้าถึงได้ง่ายรวมถึงควรจะแบ่งปันกันได้ ดังเช่นห้องสมุด

เทศะรังสรรค์ (Placemaking) เป็นแนวคิดที่นำมาใช้ในการพัฒนาทางเข้าหลักแห่งใหม่ของห้องสมุดรอสกิลด์ ซึ่งเปิดไปสู่ตัวเมืองและยังสร้างสรรค์พื้นที่เปิดที่ใช้แบ่งปันเพิ่มขึ้นมาอีกจุดหนึ่งบริเวณด้านหน้าของห้องสมุด

ทำไมผู้คนจึงมาห้องสมุด? ห้องสมุดในฐานะที่เป็นสถานที่และแบรนด์

          เดิมทีคริสเตียนทำงานเป็นบรรณารักษ์อยู่ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ที่นั่นมีห้องสมุดอยู่สองแห่ง คือห้องสมุดคณะ และอีกแห่งที่เล็กกว่าคือห้องสมุดเพื่อค้นคว้า ตั้งอยู่กลางมหาวิทยาลัย ห้องสมุดเพื่อค้นคว้ามีเคาน์เตอร์สืบค้นอ้างอิงเล็กๆ เพียงจุดเดียว มีเจ้าหน้าที่ประจำช่วงสิบโมงเช้าถึงบ่ายสามเฉพาะวันธรรมดา และมีห้องอ่านขนาดใหญ่ 3 ห้องซึ่งเปิดให้ใช้งานระหว่างเวลาแปดโมงเช้าถึงสี่ทุ่ม ซึ่งหมายความว่าในแต่ละวันจะไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่เลยเป็นเวลา 9 ชั่วโมง

          คริสเตียนเล่าว่าในการประชุมประจำเดือนของคณะ ปัญหาที่มีการพูดคุยหารือกันบ่อยที่สุดคือพฤติกรรมที่น่าตำหนิของบรรดานักศึกษา เช่น ทิ้งขยะไม่เป็นที่ทาง แอบจัดปาร์ตี้ ทำตัวไม่เหมาะสมหรือหยาบคาย แต่เขาไม่เคยได้ยินปัญหาที่เกิดขึ้นกับห้องสมุดเพื่อค้นคว้าเลย ทั้งๆ ที่ห้องสมุดตั้งอยู่กลางมหาวิทยาลัยและแทบจะไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่เลยเกือบทั้งวันก็ตาม ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ทำไมนักศึกษาจึงไม่แยแสมหาวิทยาลัย แต่กลับรักและใส่ใจกับห้องสมุด?

          ห้องสมุดดำรงอยู่มาเกือบ 5,000 ปีแล้ว ส่วนห้องสมุดประชาชนก็ถือกำเนิดขึ้นมานับตั้งแต่ยุคเรืองปัญญา (Enlightenment era)2 คำถามที่ว่า “ทำไมคนจึงเข้ามาห้องสมุด?” อาจพบคำตอบได้จากพฤติกรรมของนักศึกษาดังตัวอย่างที่กล่าวถึงนั่นเอง กล่าวคือ พวกเขามาห้องสมุดเพราะว่าห้องสมุดนั้นเป็นทั้งสถานที่และเป็นแบรนด์ที่บ่งบอกถึงชีวิตของผู้ใช้ แบรนด์ห้องสมุดเกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องของพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ เพื่อการศึกษา เพื่อการวิจัย และกิจกรรมทางวัฒนธรรม คุณค่าของห้องสมุดคือการเปิดกว้าง ความหลากหลาย การไม่แบ่งแยกกีดกัน และการเข้าถึงได้ง่าย ห้องสมุดเป็นสถาบันทางประชาธิปไตย (แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง!) หนังสือโดยตัวของมันเองก็เป็นแบรนด์หนึ่งที่เชื่อมโยงกับห้องสมุด ดังนั้น การที่นักศึกษาปฏิบัติต่อห้องสมุดเพื่อค้นคว้าดังตัวอย่างข้างต้น ไม่ใช่เป็นเพราะพวกเขารักห้องสมุด แต่เป็นเพราะพวกเขาเคารพในคุณค่าและความเป็นห้องสมุดต่างหาก

          ห้องสมุดไม่ได้ต้องการเงินทองจากผู้คน ห้องสมุดต้องการให้ผู้คนพบกับความสำเร็จ อยากให้พวกเขาเรียนรู้ แสวงหาความรู้ และเข้าถึงโลกใบใหญ่กว่าเดิม ห้องสมุดต้องการให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกัน เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และมีส่วนร่วมกับชุมชน ห้องสมุดจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการยึดเหนี่ยวและโน้มนำผู้คนให้เกิดสุขภาวะทางสังคมร่วมกัน

          นอกจากจะเป็นพื้นที่แบ่งปันซึ่งมีความสำคัญต่อชุมชนแล้ว ควรกล่าวไว้ด้วยว่าสถานที่ดังเช่นห้องสมุดนั้นจะมีความหมายก็ต่อเมื่อมีบุคลากรที่เป็นคนทำงานห้องสมุดมืออาชีพ3 คนเหล่านี้คือส่วนสำคัญที่สุดของห้องสมุด

          ในโลกทุนนิยมที่ถูกแบ่งขั้วและกำลังกลายเป็นดิจิทัลมากขึ้น คริสเตียนมองว่าผู้คนกำลังเชื่อมต่อกันมากขึ้น แต่พัฒนาการของห้องสมุดในอนาคตก็ยังคงมีฐานะเป็นพื้นที่ชุมชนที่ใช้แบ่งปันกัน นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมเราถึงไม่เคยเปลี่ยนคำเรียก “ห้องสมุด” (The Library) ไปเป็นชื่ออื่น เพราะว่าผู้คนล้วนเข้าใจว่าห้องสมุดคืออะไรและดำรงอยู่เพื่ออะไร ขณะที่พวกเขาไม่รู้หรอกว่าอะไรคือศูนย์การเรียนรู้ (learning center) อะไรคือเลิร์นนิ่งคอมมอน (learning common) อะไรคือศูนย์ความรู้ (knowledge hub)


เชิงอรรถ

[1] Minister of Loneliness เป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลอังกฤษเมื่อปี 2018 ถือเป็นประเทศแรกในโลก ผู้ดำรงตำแหน่งคนแรกคือ เทรซี่ เคราซ์ เพื่อกำกับดูแลปัญหาความเหงาของประชาชน ซึ่งเป็นวิกฤตที่พลเมืองอังกฤษกว่า 9 ล้านคนกำลังเผชิญ และเป็นปัญหาทางสังคมที่ต้องได้รับการเยียวยาแก้ไข

[2] บ้างก็เรียกว่า ยุครู้แจ้ง หรือ ยุคภูมิธรรม หรือ ยุคสว่างไสวทางปัญญา คือการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมของเหล่าปัญญาชนในยุโรปและอาณานิคมบนทวีปอเมริกา เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 และแผ่ขยายเฟื่องฟูในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป้าหมายเพื่อปฏิรูปสังคมและส่งเสริมการใช้หลักเหตุผลมากกว่าการใช้หลักจารีตและความเชื่อ โดยเฉพาะคำสั่งสอนทางศาสนา รวมไปถึงส่งเสริมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง สนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้หรือการใช้ปัญญา ต่อต้านความเชื่อทางไสยศาสตร์และโมหคติ ให้ความสำคัญกับเสรีภาพ สิทธิส่วนบุคคลและปัจเจกชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของแนวคิดระบอบประชาธิปไตยในยุคต่อมา

[3] ดูเหมือนว่าคริสเตียนจงใจใช้คำว่า professional library workers เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างและครอบคลุมกว้างกว่า librarian หรือบรรณารักษ์ – ผู้แปล


เผยแพร่ครั้งแรก สิงหาคม 2562

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก