‘อุปสรรคขวากหนามนั้นอาจมาในหลายรูปแบบ หากเราควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ สถานการณ์จะเป็นฝ่ายควบคุมเราแทน’
อาจเป็นเพราะคำสอนของบิดาอุปถัมภ์เมื่อครั้งวัยเยาว์ที่ทำให้ ‘เคานต์อเล็กซานเดอร์ อีลิช รอสตอฟ’ มีชีวิตอยู่รอดยืนยาวมาได้แม้ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากที่สุด นั่นคือ การถูกกักบริเวณในโรงแรมจวบสิ้นอายุขัย
สำหรับบางคนอาจฟังดูไม่เลวกับการต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงแรมเมโทรโปล มอสโก โรงแรมหรูที่สุดในรัสเซียช่วงทศวรรษ 1920 ละเลียดอาหารเลิศรสแกล้มไวน์ในภัตตาคารชั้นเยี่ยม สนทนาปราศรัยกับผู้คนมากหน้าหลายตา จิบบรั่นดีแก้วสุดท้ายยามดึกก่อนล้มตัวนิทราบนเตียงนวลนุ่ม โดยมีเหล่าบริกรคอยปรนนิบัติไม่ห่าง
แต่ไม่ใช่กับท่านเคานต์อเล็กซานเดอร์คนนี้แน่ ชายผู้สูงศักดิ์แห่งตระกูลขุนนางเก่าแก่รัสเซีย เจ้าของรูปร่างงามสง่า หนวดโง้งเรียวยาว วาจาเปี่ยมเสน่ห์ ปัญญาเฉียบคม มากด้วยรสนิยมและสมบัติผู้ดี ท่วงท่ากิริยาตรงกับคำว่า ‘สุภาพบุรุษ’ ทุกกระเบียด ยิ่งต้องดำรงชีวิตอันมีเกียรติและศักดิ์ศรีของตนให้อยู่ภายใต้เงื้อมเงาของคณะบอลเชวิคที่ปฏิวัติผลัดแผ่นดินด้วยความโหดเหี้ยมป่าเถื่อน ก็ขอเรียนให้ทราบว่า ไม่มีวันเสียล่ะสำหรับสุภาพบุรุษคนสุดท้ายของรัสเซียผู้นี้
‘สุภาพบุรุษในมอสโก’ (A Gentleman in Moscow) ผลงานการประพันธ์ของ อมอร์ โทวส์ (Amor Towles) นักเขียนชาวอเมริกัน แปลเป็นภาษาไทยโดย ‘ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ สำนักพิมพ์แพรว
เรื่องราวชีวิตที่พลิกผันของท่านเคานต์อเล็กซานเดอร์ อีลิช รอสตอฟ หนุ่มใหญ่ราชนิกุลแห่งตระกูลขุนนางรัสเซีย ผู้มั่งคั่งด้วยเสน่ห์ ทรัพย์ศฤงคาร และสติปัญญา เขาถูกพรรคบอลเชวิคสั่งกักบริเวณห้ามก้าวเท้าออกจากโรงแรมเมโทรโปลแม้แต่ก้าวเดียว ภายหลังราชวงศ์โรมานอฟล่มสลาย ทั้งประเทศตกอยู่ใต้การกฎเหล็กของคอมมิวนิสต์ ทุกอย่างเปลี่ยนไปชั่วข้ามคืนและส่งผลกระทบต่อทุกคนอย่างถ้วนทั่ว
“แต่เขาก็รู้ว่าการที่เขารอดมาได้อย่างหวุดหวิดไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ควรค่าแก่การเฉลิมฉลอง ท่านเคานต์เองย่อมรู้ดีกว่าใคร ในเดือนกันยายน ปี 1905 คณะผู้แทนประเทศได้เซ็นสนธิสัญญาพอร์ตสมัทเพื่อสงบศึกระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น และเพียงสิบเจ็ดปีหลังเหตุการณ์นั้นซึ่งเป็นเวลาไม่ถึงชั่วอายุคนด้วยซ้ำ รัสเซียก็ต้องบอบช้ำจากทั้งสงครามโลก สงครามกลางเมือง ทุพภิกขภัยสองครั้ง รวมทั้งปรากฏการณ์ที่ขนานนามว่า ‘ความสยองสีแดง’ จากเหล่านักปฏิวัติคอมมิวนิสต์ โดยสรุปคือประเทศชาติผ่านยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงมาอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” (น.18)
การถูกกักบริเวณถือเป็นการละเมิดเสรีภาพขั้นสุด ซ้ำยังถูกทำให้ได้รับความอัปยศอดสูด้วยการสั่งย้ายจากห้องสวีทหมายเลข 317 นิวาสสถานที่มีวิวสวยที่สุดให้ไปอยู่ห้องรูหนูใต้หลังคา พร้อมสัมภาระส่วนตัวและเฟอร์นิเจอร์เพียงไม่กี่ชิ้น แต่ท่านเคานต์ผู้ทะนงตนและเปี่ยมด้วยสามัญสำนึกก็ยังคงประคองสติ รักษาใจตน เก็บทรงมั่น ทำตัวเป็นนายเหนือสถานการณ์ไว้ได้อย่างน่าชื่นชม
“แม้แต่คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากเป็นที่สุด อย่างเรือแตกอยู่กลางทะเลหรือถูกคุมขัง ก็จะหาวิธีบันทึกช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านไป แม้การเปลี่ยนผันอันงดงามแห่งฤดูกาลและเทศกาลรื่นเริงต่างๆ ถูกแทนที่ด้วยน้ำหนักกดทับของคืนวันอันจำเจและไม่อาจแยกแยะออกจากกันได้อีกต่อไป คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวจะบากเครื่องหมาย 365 รอยไว้บนแผ่นไม้หรือบนผนังห้องขัง” (น.126)
“การตั้งอกตั้งใจนับวันคืนยังช่วยให้ผู้โดดเดี่ยวรับรู้ว่าตนได้อดทนจนพ้นอีกเดือนปีแห่งทุกข์ยาก ยังอยู่รอด ยังอัปราชัย ไม่ว่าพวกเขาจะมีเรี่ยวแรงกัดฟันสู้หรือเพื่อได้หวังลมๆ แล้งๆ หรือไม่ก็ตาม รอยบากทั้ง 365 รอยคือหลักฐานของจิตวิญญาณที่ไม่พ่ายแพ้” (น.127)
ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้ติดตามดูมหรสพชีวิตของตัวละครมากหน้าหลายตาที่โลดแล่นอยู่ในโรงแรมเมโทรโปล ผ่านกิจวัตรประจำวันอันเลิศหรูและมีรสนิยมของท่านเคานต์ว่าชนชั้นสูงในยุคนั้นเขาดำเนินชีวิตเยี่ยงไร
ไม่ว่าจะเป็นตัวละครอย่าง อันเดรย์ ดูราส์ ผู้จัดการภัตตาคารโบยาร์สกี เจ้าของมือเรียวยาวสง่าที่สามารถเนรมิตให้ทุกสิ่งไร้ที่ติเสมอ เอมิล จูคอฟสกี ยอดเชฟอัจฉริยะผู้เสกสร้างความหัศจรรย์บนจานอาหาร แล้วก็พนักงานที่แสนน่ารักคนอื่นๆ เช่น วาซีลี คอนเซียร์จผู้คล่องแคล่ว มารีนา ช่างเย็บผ้าใจอารี อับราม ช่างประปาชราผู้ถ่อมตน คอนสแตนติน คอนสแตนติโนวิช นักปล่อยเงินกู้มารยาทงาม ฯลฯ
หรือจะเป็นฉากอันคุ้นเคยในโรงแรมเมโทรโปลอย่างภัตตาคารโบยาร์สกี บาร์ชาลยาปิน ร้านตัดผมของนายยาโรสลาฟ กระทั่งบนดาดฟ้า มุมโปรดที่ท่านเคานต์และอับรามคนบ้านเดียวกันมักจะนั่งรำลึกถึงคืนวันเก่าๆ ด้วยกันเสมอ
“หลังใช้ชีวิตอยู่ในเมโทรโปลมานานสี่ปี ท่านเคานต์มองว่าตนเป็นผู้เชี่ยวชาญโรงแรมแห่งนี้ เขารู้จักชื่อพนักงานทุกคน พานพบทุกบริการผ่านประสบการณ์ตรง จำขึ้นใจถึงสไตล์การตกแต่งห้องสวีตแต่ละห้อง” (น.65)
“ท่านเคานต์เดินฉงนฉงายไปตามโถงทางเดินเพื่อตรวจดูและพบว่าประตูทุกห้องปิดสนิท สุดเฉลียงทางเดินก็ดูจะมีแต่ท่อและปล่องพาดไปมา ทว่าตรงมุมที่ไกลที่สุด ในเงามืดของท่อที่ใหญ่ที่สุด เขาพบบันไดติดผนังทอดยาวขึ้นไปสู่ฝาเปิดทางขึ้นหลังคาซึ่งใครบางคนเปิดทิ้งไว้ เขาสวมรองเท้า ค่อยๆ ปีนบันไดอย่างเงียบเชียบและก้าวออกสู่ยามราตรี”
“สายลมฤดูร้อนซึ่งเรียกท่านเคานต์ให้ออกมาหา เวลานี้พัดโอบอยู่รอบตัวเขา อุ่นสบายและไม่ถือโทษโกรธเคือง ชักนำความรู้สึกของค่ำคืนแห่งคิมหันต์ในชีวิตวัยเยาว์… เบื้องหน้าเขาคือนครเก่าแก่แห่งมอสโก หลังจากรอคอยโอกาสมาถึงสองร้อยปี บัดนี้จึงกลับมาเป็นศูนย์กลางการปกครองของรัสเซียอีกครั้ง ดึกดื่นป่านนี้ แต่มอสโกยังสว่างไสวด้วยแสงไฟฟ้าจากหน้าต่างทุกบาน ราวกับพลเมืองหน้าใหม่ที่ยังมัวเมาในอำนาจเกินกว่าจะเข้านอน ทว่าแสงแห่งพระราชวังเครมลินที่ฉายฉานไม่แพ้แสงอื่นในโลก ก็ต้องมัวหม่นลงไปเมื่อเจอกับความเจิดจ้ายิ่งใหญ่ของหมู่ดาวเบื้องบน” (น.145)
ใช่ว่าจะมีแต่คนหน้าเดิม โรงแรมเมโทรโปลยังได้ต้อนรับอาคันตุกะหน้าใหม่ที่แวะเวียนเข้ามา บ้างช่วยคลายความเหงาเปล่าเปลี่ยว บางเดินเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย ขณะที่บางคนได้มอบความหวังและพลังใจให้สุภาพบุรุษตกยากผู้นี้กลับมามีเป้าหมายชีวิตอีกครั้ง
ดังเช่น นีนา เด็กหญิงขี้สงสัยผู้ที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นหญิงสาวผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ มิชคา เพื่อนเก่ารู้ใจของท่านเคานต์ ริชาร์ด แวนเดอร์ไวลด์ เจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกา โอซิป อีวาโนวิช นายพันแห่งกองทัพแดงผู้น่าเกรงขาม อันนา อูร์บาโนวา ดาราสาวผู้เลอโฉมที่ท่านเคานต์ตั้งสรรพนามให้ว่า ‘อรชรหลิวลู่ลม’ และสุดท้ายคือ โซเฟีย เด็กหญิงตัวน้อยที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล
นอกจากตัวละครและสถานที่ก่อให้เกิดความผูกพัน ท่านเคานต์ยังได้เข้าไปเป็นประจักษ์พยานตั้งแต่เหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่สลักสำคัญจนถึงเรื่องราวอื้อฉาวใหญ่โตที่จะปรากฏบนหน้าประวัติศาสตร์ในอนาคต ทั้งซาบซึ้งตรึงใจและสะเทือนใจสลับกันไปในแต่ละยุคสมัย
ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ท่านเคานต์พรรณนาถึงความภาคภูมิใจสามข้อของประเทศรัสเซียให้นักท่องเที่ยวที่กำลังเมามาย ฉากการได้ลิ้มรสน้ำผึ้งที่มาทำรังบนดาดฟ้าอันลึกซึ้งกินใจ ฉากการพบกันครั้งแรกระหว่างสุภาพบุรุษในโลกเก่า (รัสเซีย) และสุภาพบุรุษในโลกใหม่ (โซเวียต) ของท่านเคานต์และผู้พันโอซิป หรือตอนที่แอบเข้าไปดูการประชุมใหญ่ของเหล่าสหายแดงที่โต้เถียงเรื่องอุดมการณ์คอมมิวนิสต์กันอย่างเผ็ดร้อน ฉากจิบกาแฟมองบรรยากาศน่าหดหู่บนถนนทเวอร์สกายาที่เต็มไปด้วยคนพิการยืนเข้าแถวรอรับอาหารหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ฉากการประชุมลับสุดยอดของเหล่าสมาชิกระดับสูงของสหภาพโซเวียตที่กำลังแย่งชิงตำแหน่งผู้นำ หลังการอสัญกรรมของโจเซฟ สตาลิน
“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ท่านเคานต์ยิ้มบางๆ และกล่าวถึงหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งผ่านพ้นวัยของเขาไปแล้ว – ไม่ว่าจะวันคืนแห่งการเป็นกวี การท่องเที่ยว หรือเรื่องรักๆ ใคร่ๆ – หากแต่ลึกลงไป เขากลับไม่เคยเชื่อเช่นนั้นจริงๆ เลย ณ ใจกลางของหัวใจ เขายังคงจินตนาการว่าแม้มันจะไม่ได้รับการเหลียวแลใส่ใจ ทว่าแง่มุมเหล่านี้ในชีวิตของเขาจะคงอ้อยอิ่งอยู่ตามชายขอบความทรงจำ รอเวลาที่จะถูกเรียกหาอีกครั้ง แต่ครั้นเมื่อก้มมองขวดในมือ ท่านเคานต์จึงตระหนักแก่ใจว่าเรื่องเหล่านี้ ‘กลาย’ เป็นอดีตไปหมดแล้วจริงๆ เพราะพวกบอลเชวิคมุ่งมั่นจะสร้างอนาคตจากเบ้าพิมพ์ที่ตนหล่อขึ้น และพวกเขาจะไม่ยอมหยุด จนกว่าทุกชิ้นส่วนเศษซากรัสเซียของเขาถูกถอนรากถอนโคน ทุบทำลาย และลบเลือนหมดสิ้น” (น.168)
เสน่ห์ของนิยายเล่มนี้แน่นอนที่สุดว่ามาจากตัวละครอย่างท่านเคานต์อเล็กซานเดอร์ อีลิช รอสตอฟ เป็นธงนำ โบกไสวและเด่นสง่าตลอดการเดินทางอันแสนยาวไกล
รสนิยมวิไลของเขา ความรอบรู้ปราดเปรื่องของเขา อารมณ์ขันแพรวพราวของเขา สมบัติผู้ดีของเขาเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ทางปัญญาอันล้ำค่า เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเรื่องประวัติศาสตร์ยุโรป อาหาร ไวน์ วรรณกรรมคลาสสิก ดนตรี ยันค่านิยม ประเพณี และวิธีคิดของชนชั้นสูงในรัสเซียยุคนั้น ต้องยกความดีความชอบให้ผู้เขียน อมอร์ โทวส์ ที่ทำการบ้านอย่างดีเยี่ยมและถ่ายทอดได้อย่างประณีต รวมถึงผู้แปล ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ ที่ถอดความออกมาได้อย่างสละสลวยมีชีวิตชีวา
“ไม่รู้เหมือนกันว่าครั้งสุดท้ายที่เขากินขนมปังดำนั้นคือเมื่อไหร่ ถ้ามีคนถามตรงๆ ก็คงน่าอายที่จะต้องยอมรับว่ารสชาติของไรย์ดำและกากน้ำตาล เป็นคู่เคียงที่สมบูรณ์แบบกับกาแฟ ไหนจะน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นลูกขัดรสชาติอย่างวิเศษ ถ้าขนมปังมีบุคลิกติดดิน จริงใจ และช่างครุ่นคิด น้ำผึ้งก็คือแสงตะวัน สีทอง และสดใส” (น. 148)
“ก่อนใครจะออกเดินทางไปต่างประเทศ เป็นการดีที่สุดที่จะได้ลิ้มรสซุปง่ายๆ ของบ้านเกิด เพื่อให้อบอุ่นหัวใจ และจะได้เอาไว้นึกถึงและเป็นกำลังใจในวันหม่นหมอง” (น.484)
“แน่แท้ ไวน์หนึ่งขวดคือผลสุดท้ายในการสกัดกลั่นแห่งกาลเวลาและสถานที่ คือบทกวีแห่งปัจเจกชนในตัวมันเอง แต่กระนั้นเล่า มันก็ยังถูกผลักไสลงสู่ทะเลไร้นาม สู่เขตแดนแห่งความไม่รู้และความดาษดื่น” (น. 167)
“เพลงแจ๊สก็คล้ายกับผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน เป็นพลังทางสังคมอันสดใหม่และเป็นธรรมชาติ ดื้อรั้น และมีแนวโน้มจะพูดโพล่งอะไรก็ตามในหัว แต่โดยทั่วไปก็มีเจตนาดีและอารมณ์ขัน นอกจากนั้นก็ยังเลือกแล้วที่จะไม่ยี่หระว่าอะไรมีความเป็นมาอย่างไรและต่อไปจะเป็นเช่นไร แสดงให้เห็นถึงส่วนผสมระหว่างความมาดมั่นชั้นครูกับความเซ่อซ่าประสามือใหม่ เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่ศิลปะรูปแบบเช่นนี้ไม่มีวันถือกำเนิดที่ยุโรป” (น. 253)
ขณะที่สำนวนภาษาก็บรรเจิดล้นเหลือ เจ้าคารมคมคาย เต็มไปด้วยจริตของผู้ลากมากดี ทว่านุ่มนวล มีเมตตา ให้เกียรติ และเข้าใจโลก เหมือนผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะและการศึกษาอย่างตัวท่านเคานต์นั่นแหละ ทุกฉากทุกตอนที่พร่ำสอนโซเฟีย เด็กหญิงผู้เป็นดั่งแก้วตาล้วนซาบซึ้งตรึงใจทั้งสิ้น
“สิ่งสำคัญในชีวิตเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราได้รับเสียงปรบมือหรือเปล่า สิ่งสำคัญคือเรากล้าไหมที่จะก้าวออกไปข้างหน้า ทั้งที่ไม่แน่ใจว่าจะมีคำแซ่ซ้องรออยู่หรือเปล่าต่างหาก” (น.448)
“ท่านเคานต์จำกัดตนเองให้มอบคำแนะนำแก่โซเฟียในฐานะผู้ปกครองเพียงสองประการ ประการแรกคือ ถ้าเราไม่ควบคุมสถานการณ์ของเราเอง เราก็มีแนวโน้มจะถูกสถานการณ์ควบคุม ประการที่สองคือ วาทะจากมงตาญที่ว่าความเบิกบานสม่ำเสมอคือสัญลักษณ์แน่แท้ของปัญญา” (น.485)
“คนเรานั้นมีความไม่แน่นอนเป็นเครื่องนำทาง บางเรื่องก็พลิกชีวิต บางครั้งถึงกับน่าพรั่นพรึง แต่ถ้าเราบากบั่นอดทนและเปิดใจให้กว้างไว้ เราอาจได้พบชั่วขณะแห่งความกระจ่างสว่างไสว – ชั่วขณะที่ทำให้เราเห็นว่าทุกเรื่องที่เคยเกิดกับเรา แท้จริงแล้วคือหนทางอันจำเป็น เมื่อเราได้พบตัวเองกำลังก้าวข้ามธรณีประตูสู่ชีวิตใหม่อันอาจหาญ ซึ่งเป็นชีวิตที่ชะตากำหนดมาให้เราอยู่แล้วตลอดมา” (น.513)
ความดีงามของ สุภาพบุรุษในมอสโก คือ ผู้อ่านจะได้รับทั้งความเพลิดเพลินบันเทิงใจ ได้ความรู้ที่มีคุณค่า ขณะเดียวกันก็ชวนให้ใคร่ครวญถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่ เป็นนิยายที่มอบประสบการณ์ตราตรึงในการอ่านได้ตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย คล้ายท่วงทำนองอันไพเราะที่ล่องลอยเหนือกาลเวลา รวมถึงฉากจบที่เหมาะเจาะลงตัว ไม่ต่างจากภาพยนตร์ดีๆ เรื่องหนึ่งที่เราควรได้ดูสักครั้งในชีวิต