เข้าใจตัวเอง เข้าใจเงิน ‘The Psychology of Money’ (หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะกับคนอยากรวยเร็ว)

3,159 views
7 mins
March 21, 2023

          หนังสือบางเล่ม การบอกว่ามันเหมาะกับใครอาจเป็นเรื่องยาก แต่ง่ายกว่าถ้าบอกว่ามันไม่เหมาะกับใคร ‘The Psychology of Money’ หรือ ‘จิตวิทยาว่าด้วยเงิน’ ของ Morgan Housel จัดเป็นหนังสือประเภทที่ว่า

          หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะกับคนที่ต้องการรวยเร็ว หรือค้นหาสูตรสำเร็จในการสร้างความมั่งคั่งจากการลงทุนไม่ว่าจะเป็นแนว Trading หรือแนว Value (แม้ว่าผู้เขียนจะเป็นนักลงทุนในแบบหลัง) ไม่เหมาะกับคนที่ไม่เชื่อเรื่องการอดออมและอดทน และ (น่าจะ) ไม่เหมาะกับคนที่ปราศจากความรู้ทางการเงินโดยสิ้นเชิง มันไม่บอกวิธีหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ไม่บอกวิธีอ่านกราฟ ไม่บอกวิธีเอาชนะตลาด ไม่บอกหลายสิ่งอย่างที่หนังสือฮาวทูด้านการลงทุนมักเสนอขายแก่ผู้อ่าน

          เป็นที่ยอมรับแล้วว่าการจัดการการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance Management) มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ ไม่เกี่ยวกับว่าคุณจะชอบหรือชังทุนนิยม คุณจะมัธยัสถ์หรือฟุ่มเฟือย คุณจะอยากมีชีวิตวัยเกษียณอันเรียบง่ายหรือออกเดินทางรอบโลก ฯลฯ เพราะคุณจำเป็นต้องใช้เงินขับเคลื่อนชีวิต ปากท้อง และความปรารถนา ใครจะกล้าปฏิเสธได้

          ยิ่งอยู่ในรัฐที่สวัสดิการไม่พร้อม การขึ้นค่าแรงทำได้เพียงครั้งห้าบาทสิบบาท ที่ดินกระจุกตัวอยู่ในมือผู้มั่งมี ต้นทุนการเดินทางขนส่งแพง ฯลฯ การจัดการการเงินก็ยิ่งทวีความสำคัญ

          ความน่าขัน น่าขื่น และน่าขุ่นคือ มันเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษา สั่งสอนแค่ให้ประหยัดและพอเพียงซึ่งไม่เพียงพอ

          เนื้อหาของ ‘The Psychology of Money’ คือการกลับไปทำงานกับทัศนคติ มายาคติ ความเชื่อผิดๆ จำนวนหนึ่งที่คุณมีต่อเงิน หรือแม้กระทั่งสามัญสำนึกพื้นๆ แต่มักถูกละเลยและถูกมองว่าคร่ำครึ บางประเด็นอาจจะขัดอกทุนนิยมและขัดใจแนวคิดการใช้เงินของคนยุคปัจจุบัน

          สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่มันกล่าวถึงความรู้สึกนึกคิด จิตใจของมนุษย์ต่อการออมและการลงทุน ไม่ใช่ในเชิงต่อว่าด่าทอ หากแต่เป็นการทำความเข้าใจว่าเหตุใดคนคนหนึ่งถึงตัดสินใจทางการเงินแบบนั้น การตัดสินใจที่คุณหรือผมมองว่าไร้เหตุผลกลับสมเหตุสมผลอย่างยิ่งสำหรับอีกคน มันเป็นเนื้อหาในบทแรก ‘ไม่มีใครเป็นคนบ้า’ ที่ช่วยให้เราเข้าใจตัวเองและคนอื่นก่อน เนื่องจากชีวิตมีความหลากหลาย มากมายบริบท

          คนที่ใช้ชีวิตในยุควิกฤตต้มยำกุ้งที่ปะทุขึ้นในปี 2540 มีมาตรวัดความเสี่ยงส่วนตัวต่อการลงทุนหุ้นแตกต่างกับคนที่เติบโตในยุควิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และย่อมแตกต่างจากนักเก็งกำไรในยุคบิตคอยน์ หรือถ้าคุณเคยแร้นแค้นสาหัส ก็ไม่แปลกที่จะเก็บเงินสดไว้เป็นจำนวนมากแทนที่จะนำไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าตามที่ปรึกษาทางการเงินแนะนำ ดังนั้น มันจึงสมเหตุสมผล ไม่ผิดหรือถูก

          พวกเราแต่ละคนออมและลงทุนจากประสบการณ์ ความรู้ ความสุข ความเจ็บปวด ฯลฯ ที่เราครอบครอง แทบไม่มีหนังสือว่าด้วยการลงทุนเล่มใด (อย่างน้อยก็เท่าที่ผมเคยอ่าน) ให้ความสำคัญกับชีวิตจิตใจของนักลงทุน ส่วนใหญ่มักบอกขั้นตอน วิธีการ แนวคิด และเรียกร้องการรักษาวินัยโดยละเลยการทำความเข้าใจประเด็นนี้ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดหลักการหนึ่งของการลงทุนนั่นคือ การรู้จักตัวเอง

          คุณคิดว่าทักษะทางการเงินใดที่ยากที่สุด?

          คำตอบส่วนใหญ่คงออกไปเรื่องการค้นหาหุ้นหรือกองทุน การคำนวณมูลค่าหุ้น การตัดขาดทุน หรือการรักษาวินัยทางการเงิน (ซึ่งข้อนี้ก็ยากจริง)

เข้าใจตัวเอง เข้าใจเงิน ‘The Psychology of Money’ (หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะกับคนอยากรวยเร็ว)

          ไม่ใช่เลย Morgan Housel เฉลยว่า

          ‘ทักษะทางการเงินที่ยากที่สุดคือการทำให้เป้าหมายหยุดเคลื่อนที่’

          คุณคิดว่าคุณต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงเพียงพอต่อการดูแลตัวเอง ครอบครัว และใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีคุณภาพชีวิต แน่นอน คำตอบของแต่ละคนไม่เท่ากัน

          ความซับซ้อนในใจมนุษย์เกี่ยวกับจิตวิทยาว่าด้วยเงินตรงที่ ตัวเลขมักขยับขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเวลาที่การลงทุนกำลังสร้างผลตอบแทนได้ดี ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะกระทิง หรือคุณมีความต้องการมากขึ้นตามปริมาณเงินในบัญชีที่มากขึ้น ต้องการมากขึ้นเพราะสนามหญ้าของเพื่อนบ้านเขียวสดกว่า กระเป๋าที่เพื่อนในออฟฟิศถือแพงกว่า ฯลฯ สรุปให้ง่ายคือ ‘ไม่เคยพอ’ มันจะทำให้เป้าหมายทางการเงินของคุณขยับขึ้นไม่รู้จบ สุดท้ายคุณจะพร้อมเสี่ยงมากขึ้นและมากขึ้น

          ถ้าคุณโชคดี คุณอาจทำได้ ถ้าคุณโชคร้าย คุณอาจสูญเสียเงินก้อนโตที่เก็บหอมรอมริบมา

          “ระบบทุนนิยมสมัยใหม่นั้นให้การสนับสนุนสองสิ่งคือ การสร้างความมั่งคั่งและการสร้างความอิจฉา บางทีสองสิ่งนี้ก็จูงมือไปพร้อมกัน”

          ผู้เขียนเล่าเรื่องราวของ Rajat Gupta ที่ถีบตัวเองจากความยากไร้สู่ความมั่งคั่งและเกียรติยศระดับโลก ปี 2008 Gupta ครอบครองความมั่งคั่งถึง 100 ล้านเหรียญ มันเป็นตัวเลขที่คนส่วนใหญ่แม้แต่ฝันก็ยังไม่กล้า แล้ว Gupta ก็ใช้ข้อมูลวงในซื้อขายหุ้น เขาติดคุก สูญเสียความมั่งคั่งและเกียรติยศที่ใช้เวลาสะสมมาทั้งชีวิตเพราะเขาไม่พอ

          การได้มาซึ่งความมั่งคั่งกับการรักษาความมั่งคั่งเอาไว้จึงเป็นคนละเรื่อง มันมักได้มายาก แต่เวลาที่มันล่มสลายมันก็ง่ายดายจนแทบทำใจไม่ทัน

          การทำให้เป้าหมายหยุดเคลื่อนที่เชื่อมโยงกับ ‘อิสรภาพ’ คำสุดฮิตที่เราอยากไปให้ถึง แต่เราเข้าใจคำนี้ดีแค่ไหน Morgan Housel เขียนว่า อิสรภาพ คือ…

          “ความสามารถในการทำสิ่งที่คุณต้องการ ในเวลาที่คุณต้องการ กับผู้คนที่คุณต้องการ นานตราบเท่าที่คุณต้องการนั้นคือสิ่งที่ประเมินค่ามิได้ มันคือปันผลสูงที่สุดที่เงินจ่ายให้กับคุณ”

          อิสรภาพไม่ใช่การใช้จ่ายเงินมากเท่าไหร่ก็ได้ อยากซื้ออะไรก็ได้ อยากไปไหนก็ได้ แต่มันเป็นการใช้เวลาอันเป็นทรัพยากรที่มีค่าไปกับสิ่งสำคัญจริงๆ ในชีวิต ไม่ใช่กับสิ่งของ

          Morgan Housel ไม่ได้บอกวิธีการลงทุนเลย (เขาเล่าวิธีที่เขาใช้ซึ่งเหมาะกับตัวเขาและครอบครัว ไม่ได้บอกให้ทำตาม) เนื้อหาทั้งหมดให้ความสำคัญกับการสร้าง Mindset ทางการเงิน-การเข้าใจตัวเอง เข้าใจความเสี่ยง การตระหนักถึงความผันผวน การรับมือกับความไม่แน่นอน…

          ผู้อ่านอาจรู้สึกว่ามุมมองการออมและการลงทุนของ Morgan Housel ค่อนข้างระมัดระวังตัวเกินไป มีมุมมองทางศีลธรรมมากเกินไป (?) ไม่ผิดถ้าจะคิดเช่นนั้น อย่าลืมว่า ‘ไม่มีใครเป็นคนบ้า’ มันแค่สอดคล้องและทำงานได้ดีสำหรับเขา

          “ฉันหาเงินมาเหนื่อย ฉันจะใช้จ่ายยังไงก็ได้” เป็นค่านิยมที่ได้รับการยอมรับ แง่หนึ่งมันก็แสดงออกถึงเสรีภาพของบุคคลและรางวัลจากการทำงาน จุดที่ต้องระวังคือเราไม่รู้ชีวิตทางการเงินของคนอื่น การกินหรูอยู่ดีอาจเป็นเงินที่ถูกกันไว้แล้วหลังจากเก็บออมและลงทุนก็ได้

          หลักการทางการเงิน วิธีการลงทุน สูตรคำนวณ ฯลฯ มีอยู่ทั่วไป แต่การใช้ชีวิตเป็นปริศนาที่เราต้องขบคิดเอาเอง

          ในบทสุดท้าย Morgan Housel วิเคราะห์เส้นทางลัทธิบริโภคนิยมแตะมิติความเหลื่อมล้ำในสังคมอเมริกันเอาไว้ให้คิดต่อ ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นที่หนังสือทางการเงิน (อย่างน้อยก็เท่าที่ผมเคยอ่าน)

          สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ พูดในงาน ‘สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย’ จัดโดยสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทยว่า

          “ปัญหาของประเทศเราคือมีคน 2 กลุ่มนี้มากเกินไป คนรวยที่ไม่สมควรรวย และคนจนที่ไม่สมควรจน”

          คนจนที่ไม่ควรจนเพราะขาดโอกาส เข้าไม่ถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ขาดสวัสดิการ ขาดอำนาจต่อรอง ฯลฯ

          คนรวยที่ไม่ควรรวยเพราะผูกขาด ใช้เส้นสายในทางไม่ชอบ ทุจริต รับมรดกจากพ่อแม่ที่รวยอย่างไม่สมควรรวย ฯลฯ

          การส่งเสริมให้ประชาชนเก็บออมและลงทุนกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องทำไปพร้อมๆ กัน หากทำสิ่งแรก เพิกเฉยสิ่งหลัง ย่อมไม่ต่างกับการหลอกลวง ผลักภาระลงบนบ่าของประชาชนแล้วพร่ำสอนว่าจงประหยัด อดทน และพอเพียง

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก