จีระวุฒิ เขียวมณี – ‘Bibli’ เผยเทคนิคบุกเบิกนิยายแปลพันธุ์เอเชียให้คึกคัก ปลุกตลาดนักอ่านเจน Z

847 views
7 mins
March 16, 2023

          ท่ามกลางกระแสซบเซาของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ที่บางคนใช้คำสะเทือนใจถึงขั้นบอกว่าสื่อประเภทนี้กำลังจะตาย จี-จีระวุฒิ เขียวมณี และบิ๊ก-วีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร ตัดสินใจก่อตั้งสำนักพิมพ์ Biblio ขึ้นในเดือนมีนาคม 2563 โดยแบ่งออกเป็นสองสำนักพิมพ์ย่อย ได้แก่ Bibli นิยายแปลจากเอเชีย และ Be(ing) หนังสือเกี่ยวกับความรู้ แนวคิดการใช้ชีวิตและการทำงาน จากนั้นจึงมี Beat นิยายตะวันตก และจากนั้นหนึ่งปี BiLi นิยายวาย จึงตามมาเพื่อขยายกลุ่มเป้าหมาย

          จี-จีระวุฒิ บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า “ก่อนทำสำนักพิมพ์ Biblio ผมอยู่ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์มา 18-19 ปี มีทั้งประสบการณ์ทำนิตยสารและสำนักพิมพ์ในยุคเฟื่องฟู เราเลยเห็นวัฏจักรหลายๆ อย่างของสื่อสิ่งพิมพ์ จนมาถึงเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วที่เราเริ่มทำ Biblio เราเพิ่งมีหนังสือออกมาเล่มแรกก็เจอโควิดเลย เป็นจุดที่ท้าทายมากเหมือนกัน แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่ายิ่งคนอยู่บ้านมากขึ้นเขายิ่งอยากหาอะไรทำ เราเลยปล่อยหนังสืออย่างต่อเนื่องแล้วกลายเป็นว่า ยอดขายและเสียงตอบรับที่เข้ามาในช่วงเวลานั้นสวนทางกับความวิตกกังวลในสังคมเลย เพราะหนังสือเป็นสื่อที่ฆ่าเวลาได้ดีที่สุด และเป็นสิ่งที่ทำให้คนที่กำลังอยู่บ้านผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ หนังสือที่เราทำมันถูกช่วงเวลา เนื้อหาที่เรานำเสนอมันถูกต้องในแง่ที่ว่าคนอ่านกำลังต้องการอะไรในช่วงเวลานั้น”

          สำนักพิมพ์ Bibli เป็นสำนักพิมพ์ย่อยของ Biblio ที่โดดเด่นมากที่สุด โดยตอนนี้มีนิยายและความเรียงเอเชียตีพิมพ์ออกมาแล้ว 35 ปก (ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2566) ถือว่าเยอะทีเดียวสำหรับสำนักพิมพ์ที่ก่อตั้งมาสามปี ทั้งยังปลุกกระแสให้คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะวัยรุ่น Gen Z หันกลับมาอ่านนิยายแปลอีกครั้ง เบื้องหลังการเติบโตของสำนักพิมพ์แห่งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และวงการนิยายแปลเอเชียมีอะไรน่าสนใจบ้าง จี-จีระวุฒิ ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์พร้อมแล้วที่จะเล่าให้เราฟัง

ตลาดนิยายแปลเอเชียยังคงเติบโตต่อเนื่อง

          ผมมองว่าตลาดนิยายแปลเอเชียไม่เคยดรอปเลย ถ้าโฟกัสที่กลุ่มนิยายแปลเอเชียจะเห็นว่านิยายแปลญี่ปุ่นโตเร็วมากและเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลายสำนักพิมพ์ที่เคยทำแต่ Non-fiction ก็ยังแตกไลน์ออกมาทำนิยายแปล นักเขียนญี่ปุ่นค่อนข้างหลากหลายและเก่งมากในการสร้างพลอตที่น่าสนใจ มีวิธีเล่าเรื่องที่ชวนติดตาม และด้วยความที่คนไทยเชื่อมโยงตัวเองกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นค่อนข้างง่ายจากการเสพสื่อต่างๆ แม้ช่วงหลังๆ สื่อจากเกาหลีจะเข้ามามีอิทธิพลค่อนข้างมาก แต่ในวัยเด็กเราโตมากับวัฒนธรรมญี่ปุ่น เวลาพูดถึงนิยายแปลจากเอเชีย ญี่ปุ่นจึงเป็นอันดับแรกที่เข้ามาในหัวเรา

          ช่วงหลังๆ บริบททางสังคมมันเปลี่ยนไป การเติบโตของนิยายร่วมสมัยของญี่ปุ่นก็เปลี่ยนไปด้วย วงการหนังสือญี่ปุ่นมีการผลิตนิยายที่อ่านง่ายขึ้น อาจจะอิงกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่หรือชุมชนขนาดเล็ก แต่เป็นชุมชนที่น่ารักหรือมีเมสเซจบางอย่างให้คนเขียนสามารถสร้างสตอรี่เสริมไปกับภูมิทัศน์ของประเทศในเวลานั้นได้ เลยทำให้เกิดทิศทางการนำเสนอเนื้อหาของนิยายที่หลากหลายมากขึ้น มีทั้งนิยายที่พูดถึงชีวิตผู้คนในย่านชุมชนต่างๆ หรือแฟนตาซีแบบญี่ปุ่นแต่ยังอยู่บนพื้นฐานของชีวิตปัจจุบัน

          นอกจากนี้ก็มีนิยายเกาหลี ซึ่งจุดเด่นคือการสร้างพล็อตเรื่องที่น่าสนใจ แต่ไม่ใช่ทุกเล่มที่เล่าเรื่องได้ชวนติดตาม เขาคิดพล็อตเก่งแต่การเล่าเรื่องอาจจะยังเป็นรองนิยายญี่ปุ่นอยู่ และมีนิยายไต้หวันที่เราทดลองทำดู ส่วนใหญ่พล็อตจะอิงกับประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวในอดีตของเส้นทางการสร้างชาติไต้หวัน โดยจะมีเนื้อหาที่ค่อนข้างละเอียดลออในการถักทอออกมา เหมือนเราจับผ้าไหมเนื้อดีที่ผ่านการผลิตมาอย่างดี นิยายของไต้หวันให้ความรู้สึกแบบนั้น อันนี้คือคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกันของนิยายเอเชียแต่ละประเทศ

ความต้องการของคนอ่านแต่ละยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

          จริงๆ มีทั้งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและสิ่งที่วนลูปกลับมา อย่างงานของฮารูกิ มูราคามิ เป็นงานที่ป๊อปมากตอนผมยังวัยรุ่น และตอนนี้ก็ยังได้รับความสนใจในหมู่คน Gen Z ถ้าเป็นงานแปลของนักเขียนร่วมสมัยที่มีลายเซ็นและคาแรกเตอร์ที่เจนจัดมาก ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีคนอ่านรุ่นใหม่ๆ ก็จะต้องผ่านงานของมูราคามิเป็นหลักไมล์สำคัญบางอย่างในการเติบโต เหมือนที่คนรุ่นผมเคยผ่านมาแล้ว งานที่เมสเซจแข็งแรงมากๆ ไม่ว่าผ่านไปกี่ปีมันก็ยังตอบโจทย์คนอยู่ดี เพียงแต่ไม่ใช่นิยายทุกเล่มที่ทำแบบนั้นได้

          แต่ถ้าพูดถึงงานอื่นๆ ทั่วไป สิ่งที่เห็นคือคนอ่านค่อนข้างให้ความสำคัญกับพล็อตเรื่องมากขึ้น แต่ก่อนนิยายแปลญี่ปุ่นไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างพล็อตขนาดนั้น การดำเนินเรื่องให้ชวนติดตามจะเป็นจุดเด่นจุดแข็งแรงมากกว่า แต่ยุคนี้พล็อตต้องโดน คนอ่านจะให้ความสำคัญกับนิยายที่มีพล็อตและเมสเซจที่ใกล้เคียงกับชีวิตตนเองมากขึ้น เขาต้องสามารถดึงกิมมิกในเรื่องไปแชร์หรือบอกเล่าในโซเชียลมีเดียได้ พูดง่ายๆ คือหนังสือต้องมาพร้อมเมสเซจบางอย่างที่คนอ่านจะเอาไปสื่อสารความเป็นตัวเขาเองในโลกออนไลน์ สมัยก่อนการอ่านคือการเรียนรู้กับตัวเองเท่านั้น มันไม่ได้ถูกนำออกไปสู่โลกข้างนอกมากขนาดนี้

          Gen Z ที่เข้ามาอ่านนิยายแปลในยุคใหม่ เขาคาดหวังความเซอร์ไพรส์บางอย่าง สิ่งที่จะมาเซอร์ไพรส์เขาได้ต้องเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในสื่อโซเชียล ต้องมีกระแสบางอย่างที่ทำให้เขารู้สึกสนใจ ไม่เหมือนคน Gen Y ที่เดินเข้าร้านหนังสือแล้วสามารถเป็นบรรณารักษ์ให้กับตัวเองได้ อ่านแล้วรู้สึกอิ่มอุ่นก็เขียนบันทึกหรือโทรไปเล่าให้เพื่อนฟัง

          อย่างนิยายเรื่องบ้านวิกลคนประหลาด คนอ่าน Gen Z รู้จักเล่มนี้ก่อนที่สำนักพิมพ์จะวางขายอีก เพราะเป็นกระแสจากทวิตเตอร์มาก่อนแล้ว ตั้งแต่ตอนหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในญี่ปุ่น กระแสมันพูดถึงแปลนบ้านที่ผิดปกติหลังหนึ่งซึ่งในญี่ปุ่นไม่ค่อยมีบ่อย ถ้ามีแสดงว่าอาจมีเรื่องระทึกขวัญ สยองขวัญ หรือเรื่องเหนือธรรมชาติซ่อนอยู่ นักสืบชาวเน็ตก็เข้ามาวิเคราะห์กัน มีสถาปนิกมาให้ความรู้ว่าปกติเขาไม่ออกแบบบ้านกันแบบนี้ ห้องกลางบ้านที่ไม่มีหน้าต่างชั้นสองทำไว้ทำไม กระแสเหล่านี้ทำให้คนอ่านรู้จักหนังสือมาก่อนแล้ว ถึงเวลาเราก็เขย่าเนื้อหานี้ผ่านทวิตเตอร์อีกรอบ เท่านั้นแหละกลายเป็นว่าคนอ่าน Gen Z ให้ความสนใจเล่มนี้มาก

Bibli สำนักพิมพ์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่กลับมาอ่านนิยายแปลอีกครั้ง

          ข้อสังเกตคือหลายคนเวลามาที่บูธเขาจะปักหมุดมาแล้วว่าซื้อหนังสือเล่มนี้เล่มเดียว กลายเป็นว่ากลุ่มคนอ่านไม่ใช่นักอ่านจริงๆ เท่านั้น อาจเป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในโซเชียลมีเดีย แล้วเขาก็ออกจากโลกนั้นมาซื้อหนังสือ นี่คือความแตกต่างระหว่างนักอ่านยุคนี้กับยุคก่อนในการให้ความสนใจหนังสือสักเล่ม

3 Key Success Factors (ปัจจัยแห่งความสำเร็จ) ของการทำสำนักพิมพ์ในยุคสื่อโซเชียล

          นอกจาก Brand Identity ที่ชัดเจนแล้ว ยังมีอีกสามองค์ประกอบที่ผมให้ความสำคัญคือ

          1. Correct Title หนังสือที่เลือกมาต้องอยู่ในความสนใจของคนอ่าน จะมากบ้างน้อยบ้างแต่ต้องอยู่ในความสนใจให้ได้ ปีนี้เราส่งทีมงานไปร่วมงานหนังสือที่ไต้หวันเพื่อศึกษาเทรนด์ว่าโลกการอ่านที่ใหญ่กว่าเราเขากำลังสนใจอะไร เราลงทุนส่งคนไปเพื่อคอนเนกชันกับเอเจนซี่ต่างๆ และเพื่อให้บรรณาธิการของเรามองเห็นบรรยากาศการอ่านว่ามันกำลังดำเนินไปในทิศทางไหน แล้วเอาข้อมูลเหล่านั้นมาคุยกัน 

          เราค่อนข้างซีเรียสในการประชุมคัดเลือกต้นฉบับ พล็อตเรื่องแบบนี้ในปีนี้หรือปีหน้าจะเอาต์ไปหรือยัง ต้องทำรีวิวหนังสือแต่ละเล่มก่อนคัดเลือก บางเรื่องพล็อตน่าสนใจแต่การดำเนินเรื่องไม่ค่อยดีเราก็ไม่เอาเหมือนกัน อ่านจบต้องได้อะไรกลับมาด้วย ไม่ใช่อ่านแล้วว่างเปล่า อันนี้ข้อแรกในการเลือกหนังสือที่ผมให้ความสำคัญ ตอนนี้เรามีกองบรรณาธิการภาษาญี่ปุ่นแล้วด้วย ความเข้มข้นในการคัดเลือกหนังสือก็จะยิ่งมากขึ้น

          2. Production Design เราค่อนข้างให้ความสำคัญกับเนื้อกระดาษและเทคนิคการพิมพ์ที่ซับซ้อนกว่าปกติ เพื่อสร้างประสบการณ์และความรู้สึกพิเศษบางอย่างให้เกิดขึ้น เราพยายามเลือกกระดาษที่ไม่หนักเกินไป แต่เวลาจับต้องให้ความรู้สึกที่กำลังพอดีมือ มีเท็กซ์เจอร์ที่ไม่เหมือนกระดาษทั่วๆ ไป และพยายามทดลองเทคนิคการพิมพ์ทุกอย่างที่มี เช่น จะพิมพ์เทคนิคพิเศษบนกระดาษฟอยล์สีเงินยังไงให้งานนั้นออกมาน่าสนใจขึ้น ซึ่งเราทำออกมาแล้วในเล่ม มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน The Midnight Library, สืบพยาบาทปีศาจโบกีวัง, Origin Story เรื่องเล่าของทุกสรรพสิ่งและพวกเรา

Bibli สำนักพิมพ์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่กลับมาอ่านนิยายแปลอีกครั้ง

          นอกจากนี้ผมยังให้ความสำคัญกับการออกแบบปก ผมใจจดใจจ่อเลยว่าจะดีไซน์เล่มนี้ออกมายังไงดี เราต้องทำการบ้านไปพอสมควรและชัดเจนในแนวทางที่อยากจะเห็น จากนั้นจึงบรีฟให้นักออกแบบเข้าใจและเห็นภาพตรงกัน เราจะพยายามเซ็ตภาพในหัวให้ชัดเจนก่อน แล้วเอามาผสมกับจินตนาการของนักออกแบบ เพื่อหาภาพที่ดีที่สุดร่วมกันในการสะท้อนคอนเซปต์หนังสือออกมา เป็นกระบวนการที่ต้องต่อสู้กับอะไรหลายๆ อย่างมากเลยกว่าจะสำเร็จ แต่การออกแบบและการคัดเลือกกระดาษนี่แหละที่สร้างภาพจำบางอย่างให้สำนักพิมพ์ได้ ช่วงหลังผมเลยขยายแผนกกราฟิกดีไซน์และมีอาร์ตไดเรกเตอร์ดูแลทิศทางการออกแบบปกทั้งหมดของเรา

          3. Storytelling การบอกเล่าเรื่องราวของหนังสือออกไป ยุคก่อนสื่อโซเชียลของสำนักพิมพ์มีไว้แค่โชว์ว่าเราทำหนังสือเล่มนี้ ไปขายอยู่ที่นี่นะ แต่ยุคนี้ต้องมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์แยกออกมาจากกองบรรณาธิการ เพื่อทำคอนเทนต์สำหรับลงสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงคนอ่านได้ลึกและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพราะเรามีหลายสำนักพิมพ์ย่อย หนังสือเยอะและมีเนื้อหาหลากหลาย การทำคอนเทนต์ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ผมกับทางทีมคอนเทนต์ต้องคอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงและเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น คำว่าเทรนด์ไม่ใช่แค่เรื่องปีนี้สีอะไรจะมา ปีนี้ใครจะดังใครจะไป มันเป็นเรื่องความคิดความอ่านของคนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ถ้าเราเลือกหนังสือที่อยู่ในเทรนด์ได้แล้วการสื่อสารออกไปก็สำคัญ และเราต้องเล่ามันด้วยน้ำเสียงของแบรนด์ตัวเอง

หนังสือแนะนำของ Bibli 3 เล่มที่อยากพาคนอ่านไปเรียนรู้สิ่งสำคัญ

          บริการสุดท้ายแด่ผู้ตาย เก็บกวาดความแตกสลายของชีวิต ความเรียงที่มีวิธีการเล่าด้วยชั้นเชิงแบบนิยายเล่มนี้ เป็นงานของนักเขียนเกาหลีที่เล่าประสบการณ์จากชีวิตจริงที่เขาเปิดบริษัททำความสะอาดพื้นที่ในห้อง คอนโด หรือห้องเช่าของผู้เสียชีวิตที่มีข้าวของและร่องรอยชีวิตของผู้ตายอยู่ในห้องนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการที่เจ้าของห้องฆ่าตัวตาย มันยากที่คนทั่วไปจะเข้าไปทำความสะอาด หรือญาติของผู้ตายจะไปเผชิญหน้ากับมัน ธุรกิจนี้จึงเกิดขึ้น คุณคิมวัน ผู้เขียนพยายามเข้าไปสังเกตว่าขณะที่เจ้าของห้องยังมีชีวิตอยู่เขาคิดและรู้สึกอะไร อะไรน่าจะทำให้เขาตัดสินใจลาจากโลกนี้ไป ไม่ได้เป็นการเข้าไปสังเกตเชิงละลาบละล้วง หรือพูดถึงสิ่งที่เหนือธรรมชาติ แต่พูดถึงชีวิตคนปกติในมุมที่ว่าถ้าวันนั้นเขาคนนี้ได้รับการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ มีใครสักคนรับฟังหรือเข้าใจเขาในช่วงเวลานั้น อาจจะไม่เกิดการตัดสินใจแบบนี้ขึ้น

          หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องละเอียดมาก ถึงขั้นที่ว่าบรรณาธิการ The Cloud อ่านแล้วชอบมากจนต้องให้เราช่วยนัดคุณคิมวันสัมภาษณ์ทางออนไลน์ ตอนที่อ่านต้นฉบับจบ ผมรู้สึกว่ามันค่อนข้างจะเชื่อมโยงกับประสบการณ์ในการสูญเสียคุณพ่อของตนเองที่ผ่านมา อย่างตอนเราไปเก็บห้องของคุณพ่อมันเหมือนในหนังสือเล่มนี้เลย เราได้เห็นร่องรอยการมีชีวิตอยู่ของพ่อเราในห้องนั้น และรู้สึกว่าถ้าได้อยู่กับเขามากขึ้นในช่วงเวลานั้นหรือได้รู้ข้อมูลบางอย่าง เราอาจทำให้ชีวิตก่อนจากไปของพ่อเรามีความสุขมากขึ้น เป็นเรื่องที่ผมเสียดายและเสียใจ หนังสือเล่มนี้มันมาเปิดแผลและทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของการมีชีวิต เป็นเล่มที่ทำงานกับความรู้สึกของผมมาก มันเปิดแผลแต่ขณะเดียวกันมันก็ปิดแผลนั้นด้วย

Bibli สำนักพิมพ์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่กลับมาอ่านนิยายแปลอีกครั้ง

          แม่มดกิกิ เล่มนี้เป็นวรรณกรรมคลาสสิกของญี่ปุ่นที่ถูกสตูดิโอจิบลิเอาไปสร้างเป็นอนิเมชัน แต่จริงๆ แล้วแม่มดกิกิมีเรื่องราวถึง 6 เล่ม ตั้งแต่กิกิอายุ 13 จนถึง 35 เราจะได้เห็นการเดินทางและการเติบโตของกิกิ ซึ่งตอนแรกผมเข้าใจว่าคงเป็นนิยายแฟนตาซีญี่ปุ่นมีอะไรอิ่มอุ่นน่ารักๆ ในระดับหนึ่ง แต่พอได้ลองอ่านจริงๆ แล้วเซอร์ไพรส์มาก ในชีวิตปกติเราแทบจะไม่เคยได้สัมผัสความไร้เดียงสาของชีวิตแล้ว แต่นิยายชุดนี้พาเรากลับเข้าไปเรียนรู้ความคิดแบบเด็กอีกครั้ง เวลาเจอโลกใหม่เราคิดยังไง เรากลัวอะไร เวลาเจอคนใหม่ๆ เรากังวลอะไร นิยายเล่มนี้จำลองการเติบโตของเด็กวัยรุ่นที่อายุ 13 ขึ้นมา ถึงแม้พลอตจะดูเป็นแฟนตาซี แต่มันเรียลมากสำหรับชีวิตจริงของคนเรา

          มันทำให้ผมที่อายุ 40 กว่ารู้สึกว่าถ้าย้อนกลับไปอายุเท่ากิกิได้ เราอยากทำแบบกิกิจังเลย ถ้ากลับไปแก้ไขปัญหาที่เจอตอนนั้นแบบนี้ คงทำให้เราเติบโตมาอย่างดีขึ้น เป็นนิยายที่ผมพยายามแนะนำให้ผู้ปกครองอ่าน เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เขาสามารถอ่านให้ลูกฟังเป็นวรรณกรรมก่อนนอนสำหรับเด็ก แต่ผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นก็ยังดื่มด่ำไปกับความสนุกของเรื่องราวได้ เอโกะ คาโดโนะ เป็นนักเขียนที่แพรวพราวมากในการเล่าเรื่องราว จะอ่านแค่เอาสนุกก็ได้ แต่ถ้าขบคิดลึกลงไปมันก็มีเลเยอร์ของเนื้อหาที่ทำงานกับคนแต่ละช่วงวัยแตกต่างกันไป

Bibli สำนักพิมพ์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่กลับมาอ่านนิยายแปลอีกครั้ง

          ทุกวันเป็นวันที่ดี: ความสุข 15 ประการที่การชงชาสอนฉัน เป็นความเรียงแบบญี่ปุ่นไม่ใช่นิยาย แต่ถูกดัดแปลงไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ Every Day a Good Day หัวใจ ใบชา ความรัก เป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่จับพลัดจับผลูได้มาเรียนรู้วิธีการชงชา แล้วเธอก็ใช้เวลายี่สิบกว่าปีเรียนชงชามาตลอด ความน่าสนใจคือการชงชามันมีขั้นตอนหลายแบบมาก องศาของมือ ตำแหน่งการวางอุปกรณ์ แล้วทำไมคนเราต้องลำบากไปเรียนการชงชาด้วย คำตอบคือการชงชาทำให้เราจัดระเบียบจิตใจของเราใหม่ ชีวิตของผู้เขียนในเวลานั้นเขาเจอปัญหาหลายอย่างมาก สิ่งที่ทำให้เขายังอยู่บนแนวทางที่ถูกต้องในการใช้ชีวิตคือพิธีกรรมชงชา ไม่ว่าผู้คนจะจากไป สังคมจะเปลี่ยนไป หรือตัวตนเขาจะไม่ใช่คนหนุ่มสาวเหมือนเดิมแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เขายังคงใช้ชีวิตได้อย่างต่อเนื่องมีเหตุมีผลอยู่คือการเรียนชงชา

          ในเล่มนี้จะมีการอธิบายว่า พิธีกรรมในการชงชาเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตของคนเรายังไง เพราะจริงๆ แล้วการชงชามันไม่ได้ยึดติดกับเรื่องของรสชาติว่าวันนี้ต้องอร่อยกว่าเมื่อวานหรือดีขึ้นไปเรื่อยๆ สิ่งสำคัญคือคุณพอใจกับรสชาติของชาที่ชงในวันนี้หรือยัง ถ้าคุณพอใจและมีความสุขกับทุกขั้นตอน วันนี้คือวันที่ดีของคุณแล้ว พรุ่งนี้ก็คือเรื่องของพรุ่งนี้ พิธีกรรมชงชาสอนให้เราอยู่กับปัจจุบันข้างหน้า ถ้าวันนี้ไม่ดีเดี๋ยวพรุ่งนี้ว่ากันใหม่ สัจธรรมของชีวิตที่สะท้อนออกมาผ่านการชงชา มันถูกพิสูจน์แล้วด้วยตัวชีวิตของผู้เขียนเองไม่ใช่เรื่องที่แต่งขึ้น คุณเอ๋-นิ้วกลมชอบมากถึงขั้นทำคลิปรีวิวหลายคลิปมากเลยกับหนังสือเล่มนี้เล่มเดียว

Bibli สำนักพิมพ์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่กลับมาอ่านนิยายแปลอีกครั้ง

โลกในนิยายที่อยากลองเข้าไปสัมผัสดูสักครั้ง

          ถ้าเลือกเข้าไปอยู่ในนิยายได้หนึ่งเรื่อง ผมขอเลือก ‘ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ’ เป็นเล่มที่ทำให้คนอ่านรู้จักเรามากที่สุดเล่มหนึ่ง เป็นนิยายแฟนตาซีที่เอาเรื่องราวของหนังสือมาเป็นพล็อตหลัก เล่าถึงเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่รับมรดกจากคุณปู่ที่เสียชีวิตในการทำร้านหนังสือมือสอง วันหนึ่งเขารู้สึกว่าทำไม่ได้แล้วและตัดสินใจกำลังจะปิดร้าน ก็มีแมวพูดได้โผล่มาจากมิติคู่ขนาน ชวนพระเอกของเรื่องเข้าไปสู่อีกมิติเพื่อไปเผชิญหน้ากับโลกที่หนังสือกำลังจะพังทลายหายไป ภารกิจของเด็กผู้ชายคนนี้คือต้องเข้าไปช่วยไปเซฟโลกหนังสือในอีกมิติ ไม่ให้หนังสือหายไป ตอนอ่านผมลองแทนตัวเองเป็นตัวเอก แล้วคิดว่าถ้าเราต้องไปเผชิญหน้ากับคนที่หมดกำลังใจหรือมองคุณค่าของหนังสือเปลี่ยนไป เราจะใช้เหตุผลอะไรในการเกลี้ยกล่อมพูดคุยกับคนเหล่านั้น เพื่อให้เขายังเห็นคุณค่าของหนังสือ และผมก็ค่อนข้างชอบแมวอยู่แล้ว มันคงสนุกดีถ้าได้เข้าไปอยู่ในโลกนั้นชั่วคราว

Bibli สำนักพิมพ์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่กลับมาอ่านนิยายแปลอีกครั้ง


RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก