เทคโนโลยีห้องสมุด มีไว้เพื่อแก้ปัญหางานบริการ สร้างประสบการณ์เชิงบวกกับผู้ใช้

4,374 views
8 mins
January 19, 2023

          ห้องสมุดที่ทันสมัย-ไฮเทคในอุดมคติของคุณเป็นแบบไหน เต็มไปด้วยหุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ มีอุปกรณ์อัจฉริยะให้บริการตามจุดต่างๆ สามารถเก็บข้อมูลและนำไปวิเคราะห์เพื่อสร้างบริการรูปแบบใหม่ได้ มีพื้นที่เรียนรู้ที่ใช้เทคโนโลยีโลกเสมือน หรือมีอุปกรณ์ชาญฉลาดคอยให้บริการจนแทบจะไม่ต้องขยับตัว

          สำหรับห้องสมุดใหญ่ที่มีงบประมาณพอเพียง ภาพเหล่านั้นอาจเกิดขึ้นได้จริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าห้องสมุดอีกหลายแห่งกำลังต้องสู้รบปรบมือกับสถิติจำนวนผู้ใช้งานและงบประมาณที่ลดลง ยังไม่นับการปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะมีเวลาว่างน้อยลงหรือชอบเข้าถึงเนื้อหาฉบับดิจิทัลมากกว่าพาตัวเองมาที่ชั้นหนังสือ

          เทคโนโลยี อาจเป็นคำตอบของการปรับตัวในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง การเปิดรับเทคโนโลยีย่อมไม่ได้เกิดขึ้นเพราะต้องการให้ห้องสมุดดูทันสมัยหรือก้าวทันโลกเท่านั้น แต่เป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ ไม่ว่าจะเพื่อตอบรับความต้องการใหม่ หรือบริหารจัดการบุคลากรให้ตรงกับพันธกิจ แม้จะเป็นเม็ดเงินที่สูงในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นการลงทุนใหญ่ในครั้งแรก เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลได้ในระยะยาว

          มาลองสำรวจไปพร้อมกันว่าเทคโนโลยีในห้องสมุดวันนี้มีอะไรบ้าง และเทคโนโลยีเหล่านั้นช่วยให้การบริการในห้องสมุดไร้รอยต่ออย่างไร

สำรวจเทคโนโลยีในห้องสมุด

          ทุกวันนี้ห้องสมุดที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพียงพอ ได้อัปเดตเทคโนโลยีตามจุดให้บริการต่างๆ เพื่อให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ตลอดทั้งกระบวนการสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ

          RFID เป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยีจากคลื่นความถี่วิทยุในการตรวจสอบข้อมูล แม่นยำและสะดวกกว่าระบบบาร์โค้ด เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะกับระบบ Self-service นิยมใช้กับระบบยืมคืน รวมถึงประตูเข้าออกอัตโนมัติ จุดคืนหนังสือ หรือแม้กระทั่งการเช็คสต็อกหนังสือบนชั้น

          Mobile Application เพื่อให้สอดคล้องพฤติกรรมผู้ใช้งานห้องสมุดในปัจจุบันที่ใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ห้องสมุดหลายแห่งให้บริการแบบเปิดโอกาสให้สมาชิกเข้าถึงข้อมูลการค้นหาหนังสือ ยืมหนังสือออนไลน์แล้วจัดส่งแบบเดลิเวอรี แสดงตารางกิจกรรม การจองห้องทำงานหรืออุปกรณ์ที่ให้บริการ และเข้าถึงเนื้อหาดิจิทัลผ่านทางแอปพลิเคชันได้ แม้ว่าผู้ใช้งานจะไม่ได้เข้ามาใช้บริการในพื้นที่ แต่ห้องสมุดก็ยังให้บริการได้แบบไม่ลดหย่อนประสิทธิภาพ

          Robot หรือ Automated System ปัจจุบันหลายท่านคงคุ้นเคยกับหุ่นยนต์ให้บริการประจำร้านอาหาร ที่คอยนำอาหารมาส่งให้ลูกค้า ห้องสมุดหลายแห่งก็ใช้บริการหุ่นยนต์ในการทำงานที่เป็นกิจวัตร เช่น ขนส่งหนังสือ และให้ข้อมูลพื้นฐานกับผู้ใช้งานห้องสมุด เป็นต้น ระบบอัตโนมัติในห้องสมุดหลายแห่ง ก็ช่วยให้การจัดเก็บหนังสือในพื้นที่จำกัดเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก เมื่อผู้ใช้งานกดสั่งยืมหนังสืออนไลน์ ระบบจะตรวจเช็คว่าหนังสือถูกเก็บอยู่ที่ชั้นไหนในห้องเก็บหนังสือชั้นใต้ดิน และส่งกล่องหนังสือที่บรรจุหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาให้โดยอัตโนมัติ

          Interactive User Interface การสื่อสารระหว่างห้องสมุดกับผู้ใช้งาน มีหลากหลายรูปแบบ ห้องสมุดหลายแห่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย เช่น การใช้หน้าจอนำเสนอข้อมูลแบบอินเทอร์แอคทีฟที่ชั้นหนังสือหรือในโซนนิทรรศการ บางแห่งมีตู้ Kiosk ที่ให้ข้อมูลหนังสือได้ราวกับมีบรรณารักษ์มายืนเล่าให้ฟัง

          เทคโนโลยีที่กล่าวมา คือสิ่งที่ห้องสมุดหลายแห่งคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีที่ห้องสมุดหันมาใช้งานเริ่มหลากหลายแตกต่างกันไปตามกิจกรรมที่ออกแบบ หลายแห่งประยุกต์เทคโนโลยีด้านสื่อผสมผสานในการให้บริการ เช่น Digital Storytelling ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่หลากหลาย บ้างก็ให้บริการเทคโนโลยีสำหรับกลุ่มเมกเกอร์ เช่น 3D Printing บางแห่งมีโปรแกรมสำหรับโค้ดดิ้งคลับ หรือใช้ AR/VR เพื่อยกระดับประสบการณ์การให้ความรู้จากการอ่านหนังสือมาเป็นสัมผัสโลกเสมือนจริง ส่วนห้องสมุดที่มีทรัพยากรมากพอก็อาจจะพัฒนาระบบ AI เพื่อช่วยจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ

เทคโนโลยีเพื่อการให้บริการแบบไร้รอยต่อ

          การปรับแนวคิดการทำงานของห้องสมุดในช่วงหลังมานี้ มักจะเป็นไปตามแนวคิด ‘Think Outside the Book’ หรือการพิจารณาบทบาทของตนเองใหม่ จากองค์กรรวบรวมหนังสือและข้อมูล มาเป็นองค์กรเพื่อการเรียนรู้ที่หมุนรอบความต้องการของ ‘ผู้ใช้งาน’ หากพิจารณาดูงานหน้าบ้านและหลังบ้านในห้องสมุด เทคโนโลยีที่เลือกใช้ก็เพื่อ ‘แก้ปัญหา’ ที่เกิดขึ้นจากการให้บริการ หรือ ‘สร้างประสบการณ์’ เชิงบวกกับผู้ใช้งาน โดยอาจแบ่งกลุ่มได้ดังต่อไปนี้

          เทคโนโลยีที่ช่วยแบ่งเบา ช่วยงานเจ้าหน้าที่ในห้องสมุด ด้วยข้อจำกัดที่มี ห้องสมุดหลายแห่งมีเจ้าหน้าที่จำนวนน้อยลง หรือเจ้าหน้าที่อาจจะมีภาระหน้าที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น ต้องออกไปพบปะผู้คน จัดกิจกรรมการเรียนรู้ จึงไม่สามารถให้บริการยืมคืนหนังสือหรือตอบคำถามที่หน้าเคาน์เตอร์ได้ตลอดเวลา เทคโนโลยีที่ช่วยผ่อนแรงบรรณารักษ์ทั้งในส่วนหน้าบ้านและหลังบ้านเพื่อให้มีเวลาสร้างสรรค์กิจกรรมอื่นๆ ได้แก่

  • Self-service ห้องสมุดหลายแห่งลงทุนกับเครื่องให้บริการยืมคืนหนังสือด้วยตัวเอง ที่ใช้เทคโนโลยี RFID เพียงติดแท็กกับหนังสือ การยืมคืนที่เครื่องให้บริการก็สะดวกมากขึ้นจากระบบบาร์โค้ด ไม่ต้องรอให้บรรณารักษ์สแกนหนังสือเข้าระบบทีละเล่ม เพียงแค่วางหนังสือเอาไว้บนเครื่องให้บริการอัตโนมัติก็ดำเนินการได้ทันที ประตูรักษาความปลอดภัยก็คอยทำหน้าที่ตรวจสอบว่าหนังสือที่ถูกพาออกไปนอกห้องสมุดนั้นผ่านการยืมแล้วหรือยัง เทคโนโลยีนี้สามารถช่วยลดความคับคั่ง ณ จุดบริการได้ เพราะผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องรอเจ้าหน้าที่ให้บริการเพียงเท่านั้น
  • Robot หุ่นยนต์ถูกนำมาใช้งานในห้องสมุดอยู่หลายแห่ง เช่น หอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ หรือห้องสมุดโอดิ แห่งเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ บทบาทหน้าที่ของหุ่นยนต์นั้นแตกต่างกันไป สอดคล้องกับการใช้งานในแต่ละห้องสมุด ตั้งแต่ขนส่งหนังสือจากจุดคัดแยกไปยังชั้นหนังสือ ตรวจสอบความถูกต้องของตำแหน่งหนังสือบนชั้น หรือแม้กระทั่งให้ข้อมูลพื้นฐานกับผู้ใช้งาน เพื่อลดภาระงานประจำของบรรณารักษ์ เปิดโอกาสให้ใช้เวลาสร้างสรรค์บริการใหม่
เพิ่มประสิทธิภาพงาน บริการให้โดนใจ เทคโนโลยีช่วยห้องสมุดได้
หุ่นยนต์ประจำห้องสมุดโอดิ กำลังทำหน้าที่ขนส่งหนังสือไปยังชั้นใต้ดิน
Photo : ThePikachin, CC BY-SA 4.0 via Wikimedia Commons

  • AMH (Automated Material Handling) ระบบนี้ใช้เทคโนโลยี RFID ในกระบวนการทำงาน เมื่อหนังสือถูกส่งคืนที่เครื่องคืนหนังสืออัตโนมัติ หนังสือเหล่านั้นจะถูกส่งไปตามสายพาน และแยกลงไปในกระบะจำแนกหนังสือแบบอัตโนมัติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถนำกลับไปวางคืนบนชั้นได้โดยสะดวก เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ที่ต้องคัดแยกหนังสือจำนวนมาก
เพิ่มประสิทธิภาพงาน บริการให้โดนใจ เทคโนโลยีช่วยห้องสมุดได้
เครื่องคัดแยกหนังสือที่ถูกส่งคืนมาจากผู้ใช้บริการ ก่อนจะจำแนกไปตามประเภทต่างๆ
Photo : Bibliotheca

  • AI ห้องสมุดขนาดใหญ่หลายแห่งมีทรัพยากรในความดูแลเป็นจำนวนมาก ระบบ AI เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการตั้งแต่หน้าบ้านจนถึงหลังบ้านจึงเป็นสิ่งจำเป็น ตัวอย่างระบบ AI ที่ช่วยอำนวยความสะดวกงานในห้องสมุด ได้แก่
    • Oodi Virtual Information Assistance แชตบอตที่ออกแบบตัวละครเฉพาะถึง 6 แบบ 6 บุคลิก มาทำหน้าที่ตอบคำถาม และแนะนำหนังสือให้กับผู้ใช้งานแอปพลิเคชันของห้องสมุด
    • Annif เป็นระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยหอสมุดแห่งชาติฟินแลนด์ เพื่อช่วยจัดทำแคตตาล็อกหนังสือหรือเอกสาร พร้อมระบบ Machine Learning เรียนรู้ข้อมูลใหม่ Annif ช่วยจัดการระบบหลังบ้านให้สะดวกขึ้น ในปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติหลายแห่ง เช่น หอสมุดแห่งชาติเยอรมัน หอสมุดแห่งชาติสวีเดน ก็ใช้บริการระบบนี้
    • Iris.AI ทำหน้าที่ค้นหาข้อมูลที่ต้องการ เหมาะสมกับการใช้งานด้านวิจัย เพราะทั้งจัดเก็บข้อมูล ค้นหา และจัดทำสรุปได้

          นอกจากโปรแกรมเหล่านี้ ห้องสมุดบางแห่งที่ให้บริการเกี่ยวกับการเขียน หรือการตีพิมพ์ AI สามารถเข้ามามีบทบาทเกี่ยวกับการตรวจสอบคำผิดได้อีกด้วย

แชตบอตของ Oodi Virtual Information Assistance

          เทคโนโลยีกับการให้บริการแบบ Staff-less เมื่อพฤติกรรมของผู้ใช้งานเปลี่ยนแปลงไป ช่วงเวลาที่สะดวกในการใช้บริการห้องสมุดอาจจะเป็นช่วงค่ำคืน ซึ่งอยู่นอกเวลาทำการของเจ้าหน้าที่แล้ว การใช้เทคโนโลยี 2-3 อย่างผสมรวมกัน ช่วยให้สามารถขยายเวลาให้บริการในช่วงที่ไม่มีพนักงานประจำได้ ดังที่ในแถบยุโรปนิยมเรียกกันว่าห้องสมุดแบบ Open+ หรือบางแห่งก็เรียกกันว่าห้องสมุดแบบ Staff-less การให้บริการแบบไร้เจ้าหน้าที่ ประกอบไปด้วยเทคโนโลยีหลายส่วนดังต่อไปนี้

  • ประตูเปิดปิดอัตโนมัติ ที่สมาชิกห้องสมุดสามารถเข้ามาใช้บริการได้ผ่านการเปิดรหัส PIN และประตูเซนเซอร์สำหรับป้องกันไม่ให้หนังสือที่ไม่ถูกยืมอย่างถูกต้องตามกระบวนการหลุดรอดออกไปได้
  • ระบบ CCTV และระบบควบคุมจากระยะไกล เพื่อสังเกต บันทึก สังเกตการณ์ และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานห้องสมุด เช่น จำนวนผู้ใช้งานในแต่ละช่วงเวลา
  • เครื่องยืมคืนอัตโนมัติ ที่ผู้ใช้งานสามารถยืมและคืนหนังสือเองได้
  • ห้องสมุดบางแห่งมีตู้ล็อกเกอร์อัตโนมัติ สำหรับผู้ใช้งานที่จองหนังสือล่วงหน้า แต่ต้องมารับหนังสือในช่วงที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่

          ปัจจุบันห้องสมุดแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา หรือออสเตรเลีย ให้บริการนอกเวลาในนาม ‘Open Library’ หลายร้อยแห่ง นับว่าเป็นการลงทุนกับเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การเข้าถึง แต่ไม่ใช่ห้องสมุดทุกแห่งที่จะเปิดให้บริการแบบ Staff-less แล้วคุ้มค่า ห้องสมุดอาจต้องสำรวจก่อนว่ามีผู้ต้องการใช้งานนอกเวลาเพียงพอกับที่จะจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเทคโนโลยีเพิ่มเติมหรือไม่

การให้บริการห้องสมุดแบบ Open+ หรือ Staff-less Library 

          เทคโนโลยีที่ช่วยเรื่องการเข้าถึง ในสังคมที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ เวลาของวัยทำงานอาจมีจำกัด แม้จะอยากเข้ามายืมหนังสือหรือใช้บริการ แต่ภาระงานประจำวันก็หนาแน่นเกินกว่าที่จะฝ่าออกมาได้ ห้องสมุดหลายแห่งอำนวยความสะดวกการเข้าถึงและยืมคืนหนังสือ โดยเอื้อให้ผู้ใช้งานยืมหนังสือได้จากแอปพลิเคชันหรือระบบออนไลน์  สามารถรับหนังสือได้จากจุดรับหนังสือที่สามารถเลือกได้ด้วยตัวเอง

  • Remote Locker หรือ Vending Kiosk คือตู้ยืมคืนหนังสือนอกสถานที่ โดยผู้ยืมสามารถนำรหัสที่ได้จากการยืมหนังสือผ่านทางระบบออนไลน์หรือแอปพลิเคชันไปรับหนังสือตามจุดต่างๆ ที่สะดวก ประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียหลายแห่งเช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี ใช้ระบบนี้เพื่อเอื้อให้ผู้ใช้งานเข้าถึงหนังสือได้ง่าย
การใช้งานยืมคืนหนังสือผ่านตู้ Remote Locker หรือ Vending Kiosk
  • ห้องสมุดบางแห่งรับสำรองพื้นที่บริการต่างๆ ในห้องสมุด เช่น ห้องทำงาน อุปกรณ์ เครื่องดนตรี เกม ผ่านทางแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับความสะดวกสบาย วางแผนการใช้งานห้องสมุดได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสใช้ทรัพยากรของห้องสมุดได้อย่างเต็มที่
  • Cloud Library หรือการให้บริการเข้าถึงเนื้อหาในรูปแบบดิจิทัล เช่น นิตยสาร การ์ตูน หรือหนังสืออื่นๆ ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึง และยืมอ่านจากที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องเข้ามาที่ห้องสมุด ผ่านทางอุปกรณ์สื่อสารของตนเอง นับว่าตอบโจทย์ผู้ใช้งานปัจจุบันอยู่มาก

          ห้องสมุดบางแห่ง ใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับการให้บริการด้วยแรงมนุษย์ เช่น ห้องสมุด Cultivation Library ของ AIS ในประเทศไทย ใช้แรงมนุษย์ในการเดินเอาหนังสือไปวางไว้ให้ที่โต๊ะทำงานหลังจากผู้ยืมกดยืมหนังสือจากตู้อัตโนมัติหรือจากแอปพลิเคชัน ส่วนห้องสมุด TK Park ให้บริการเดลิเวอรี อำนวยความสะดวกส่งหนังสือให้ถึงบ้าน โดยเสียเพียงค่าส่ง แต่ประหยัดเวลา ค่าเดินทาง และค่าที่จอดรถ เมื่อเทียบกับการเดินทางเข้ามายืมหนังสือถึงห้องสมุด

สื่อสารกับผู้ใช้งาน (User Interface) แบบใหม่ๆ น่าใช้กว่าเดิม

          ห้องสมุดหลายแห่งปรับรูปแบบ User Interface ที่ใช้ในการแจ้งข่าวสาร และสื่อสารกับผู้ใช้งานทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ เพื่อให้ใช้งานง่าย น่าสนใจ แต่ละแห่งเลือกใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันไป ตามความเหมาะสมกับการใช้งานของตนเอง

          Interactive Shelf หรือ Interactive Screen ห้องสมุดหลายแห่งใช้หน้าจอแบบอินเทอร์แอคทีฟเพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารกิจกรรม หรือสื่อสารกับผู้ใช้งาน บางแห่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือ สร้างปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิด พร้อมทั้งเอื้ออำนวยความสะดวกในการค้นหาหนังสือไปด้วย

หน้าจอแบบอินเทอร์แอคทีฟที่จุดยืมหนังสืออัตโนมัติออกแบบโดย Bibliotheca

          Tablet ที่ให้บริการได้เฉพาะที่ เนื้อหาดิจิทัลบางอย่าง เป็นเนื้อหาที่ห้องสมุดสร้างขึ้นเองแบบ ‘Tailor-made’ การให้บริการเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลผ่านทางแท็บเล็ตของห้องสมุดเอง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่ก็มีเสียงสะท้อนจากเจ้าหน้าที่ว่าจะรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์ได้สมบูรณ์แค่ไหน Bibliotheca พัฒนารูปแบบ ฮับเล็ต (Hublet) ซึ่งเป็นแท็บเล็ตที่ทำงานเมื่ออยู่ในพื้นที่เฉพาะเท่านั้น ในยามไม่ได้ใช้งานฮับเล็ตจะถูกวางในตัวสเตชันเพื่อชาร์จพลังงาน ผู้ยืมสามารถใช้บัตรสมาชิกมาสแกนเพื่อรับฮับเล็ตไปใช้งานที่ไหนก็ได้ในพื้นที่ห้องสมุด เมื่อออกจากพื้นที่ที่กำหนดตัวอุปกรณ์จะใช้งานไม่ได้ ตัดความกังวลใจเรื่องการนำเอาเครื่องมือออกนอกห้องสมุดไปได้

ฮับเล็ต หนึ่งในเทคโนโลยีที่มีให้บริการในห้องสมุด

          เทคโนโลยีโลกเสมือน หากพูดถึงเทคโนโลยีที่ห้องสมุดหลายแห่ง Virtual Reality (VR) เป็นเทคโนโลยีที่ห้องสมุดหลายแห่งใช้นำเสนอข้อมูล หรือประกอบทำกิจกรรม เช่น กิจกรรมที่เกี่ยวกับการเล่นเกม การเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งการสร้างคอนเทนต์สำหรับ VR

          ห้องสมุดในมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นมิชิแกน มีบริการแว่น VR สำหรับชมภาพยนตร์ในคอลเลกชัน เช่น ผจญภัยสิ่งหนีไดโนเสาร์ ที-เร็กซ์ ในเรื่องจูราสสิค เวิลด์ นอกจากนี้ยังมี Virtual Reality Lab ที่ให้บริการอุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับสร้างคอนเทนต์  TK Park ก็เป็นหนึ่งในห้องสมุดที่ให้บริการ VR มีรูปแบบการบริการที่เรียกว่า Virtual TK  โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาชมพื้นที่เรียนรู้ตัวอย่างแบบเสมือนจริง (TK Space) และสามารถออกแบบพื้นที่เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง (TK Design) ห้องสมุดเคลย์ตัน ในรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ได้เปิดให้บริการคอร์สออนไลน์ด้านวิชาชีพเฉพาะ ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดด้วยระบบ ‘Immersive VR training’ เช่นกันกับห้องสมุด เวสต์ ชาร์ลส์ตัน ในรัฐเนวาดา ที่เปิดศูนย์ให้บริการข้อมูลเฉพาะสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่ต้องการข้อมูลพื้นฐานด้านอาชีพในสาขาต่างๆ เช่น สายสุขภาพ ไอที โลจิสติกส์  ผ่านโปรแกรมการเรียนรู้ที่ใช้เทคโนโลยีโลกเสมือน

เทคโนโลยีคือเครื่องมือ ที่ควรยืดถือคือ ‘ความคุ้มค่า’ ในการลงทุน

          แน่นอนว่าเทคโนโลยีช่วยเติมเต็มความคาดหวังของผู้ใช้งานห้องสมุดได้เป็นอย่างดี แต่การลงทุนแต่ละครั้ง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือวัตถุประสงค์ในการใช้งาน และความคุ้มค่าในการลงทุน หากงบประมาณที่จะลงทุนกับเทคโนโลยีเป็นข้อจำกัด หรือพิจารณาผลที่ได้แล้วเหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน ห้องสมุดก็อาจจะต้องพิจารณาการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นๆ ที่เป็น ‘นวัตกรรมแบบไม่ใช้เทคโนโลยี’ แทน

          ห้องสมุดหลายแห่งในสิงคโปร์ ใช้ระบบอาสาสมัครในการให้บริการ นอกจากจะลดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรแล้ว ยังมีผลพลอยได้คือได้สังคมอาสาสมัครที่แน่นแฟ้น เกิดกิจกรรมที่ส่งเสริมการให้คุณค่ากับงานเพื่อสังคมอีกด้วย หากไม่มี Interactive Screen เพื่อนำเสนอคอนเทนต์ใหม่ๆ หรือเพื่อสื่อสารกับผู้ใช้งาน สื่อสารด้วยวิธีอื่นก็ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้ ห้องสมุดกาโนเป ห้องสมุดสีเขียวในกรุงปารีส ก็หันมาใช้กระดานดำที่ใช้ชอล์คเขียน ลบเปลี่ยนข้อความสื่อสารกับผู้ใช้งานห้องสมุดได้ทุกวัน เรียกได้ว่าไม่เปลืองพลังงานไฟฟ้า และยังเป็นการส่งเสริมการห่วงใย ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง

          หากตู้กระจายหนังสือหรือ Remote Locker ราคาสูงเกินไป แต่ยอดผู้จองหนังสือและมารับหนังสือนอกเวลามีไม่มากพอที่จะคุ้มค่ากับการลงทุน การจ้างเจ้าหน้าที่แบบพาร์ตไทม์ หรือรับสมัครจิตอาสาในการกระจายหนังสือที่ถูกจองล่วงหน้า ก็อาจจะใช้งบประมาณน้อยกว่าการลงทุนกับตู้ล็อกเกอร์

          การเลือกรับเทคโนโลยีมาใช้ ย่อมต้องพิจารณาพฤติกรรม ความต้องการของผู้ใช้งาน และความเหมาะสมกับบริบท เช่น จะลงทุนกับ Staff-less ก็ต้องเป็นสถานที่ที่ผู้ใช้งานนิยมทำงานจนถึงดึกๆ หากจะใช้ VR หรือ AR  ก็ต้องมั่นใจว่ามีวัตถุประสงค์ของการใช้งานที่ชัดเจน เกิดประโยชน์จากการใช้งานจริง เช่น เกิดการเรียนรู้และการฝึกฝนทักษะ หากเทียบกันแล้วผลจากเทคโนโลยีที่มีราคาสูง กับกิจกรรมในรูปแบบเดิมไม่ได้สร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างกันนัก ก็อาจจะต้องหันกลับมาทบทวนว่าผิดที่ตรงไหน ตัวเทคโนโลยี ผู้ออกแบบเนื้อหา หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจ


ที่มา

บทความ 10 innovative technologies to implement at the library of the future (Online)

บทความ 2022 Library Systems Report: An industry disrupted (Online)

บทความ Current technology trends in libraries (Online)

บทความ Library Tech Trends for 2023 (Online)

บทความ The Big Challenges of Small Libraries (Online)

บทความ The Biggest Challenges Public Libraries are Facing (Online)

เว็บไซต์ bibliotheca (Online)

Cover Photo : Bibliotheca

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก