101 บทเรียนสำหรับนวัตกร
ตอนที่ 42 ทำไมถึงมีนวัตกรรมเล็กๆ มากกว่านวัตกรรมเปลี่ยนโลก?
คุณอยากเป็นนวัตกรที่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่พลิกโฉมวงการได้หรือไม่? คุณต้องอยากแน่ๆ แต่ในความเป็นจริง มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก
เมื่อสังเกตดูว่าบริษัทต่างๆ ใช้งบประมาณไปกับการสนับสนุนนวัตกรรมอย่างไร ผมพบว่า 58% ของงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ถูกใช้ไปกับนวัตกรรมที่พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมแบบเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น อีก 28% ถูกใช้ไปกับนวัตกรรมที่ใหญ่ขึ้นมาอีกนิด และงบประมาณเพียง 14% เท่านั้น ที่ถูกใช้ไปกับนวัตกรรมที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ บริษัทนิยมลงทุนกับนวัตกรรมเล็กๆ หรือนวัตกรรมขนาดกลาง ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้เร็วกว่านวัตกรรมใหญ่ๆ ที่พลิกโฉมตลาดสินค้า อีกทั้งยังใช้ทรัพยากรน้อยกว่า และก่อให้เกิดความเสี่ยงน้อยกว่าอีกด้วย งบประมาณที่ใช้ไปกับนวัตกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงลดลงจาก 20% ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990s จนเหลือเพียง 11.5% ในปี 2010
ในหนังสือเรื่อง ‘The Innovation Paradox: Why Good Businesses Kill Breakthroughs and How They Can Change’โทนี่ ดาวิลา (Tony Davila) และ มาร์ก เอปสไตน์ (Marc Epstein)กล่าวถึงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นกับผู้จัดการองค์กร “ผลประโยชน์ที่ได้จาก การปฏิบัติการที่เป็นเลิศ กับ นวัตกรรมเล็กๆ ที่พัฒนาต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิม เป็นสิ่งที่ต้องแลกมาด้วยโอกาสในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ การทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มักจะลดโอกาสและความเป็นไปได้ในการค้นพบนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่”
ตัวอย่างที่สามารถอธิบายกรณีนี้ได้เป็นอย่างดีคือ Nokia ผู้นำตลาดโทรศัพท์มือถือในยุคก่อน บริษัททราบแล้วว่าสมาร์ทโฟนกำลังเริ่มจะเป็นที่นิยมในตอนนั้น พวกเขามีต้นแบบผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนแล้วด้วยซ้ำ แต่ Nokia ก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโทรศัพท์มือถือแบบเดิมมากกว่า เพราะเขาเชื่อว่านั่นคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ แล้วบริษัทอื่นก็พัฒนาสมาร์ทโฟนขึ้นมาและดึงลูกค้าของ Nokia ไปหมด
ดังนั้น คุณจะสร้างโอกาสในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?
จงทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเชื่อและเป็นกังวลว่า การไม่ลงมือทำอะไรเลยต่างหากจะนำมาซึ่งความเสี่ยงสูงสุด
ที่มา
หนังสือ Inspiration for Innovation: 101 Lessons for Innovators เขียนโดย Gijs van Wulfen
Cover Photo: Ron Lach on Pexels