4 นวัตกรรมการศึกษาแคนาดา เสริมสุขภาวะการเรียนรู้ของผู้เรียน

505 views
7 mins
December 20, 2023

          ถ้าหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน แทบเป็นเรื่องปกติที่ห้องเรียนจะมอง ‘ความสำเร็จ’ ของเด็กผ่านแว่นวิชาการเสียส่วนใหญ่ กล่าวคือห้องเรียนมีหน้าที่กำหนดบทเรียน แล้วผู้เรียนต้องทำให้ได้ตามมาตรฐาน เกณฑ์วัดความสำเร็จคือคะแนน ผลการสอบ จำนวนโครงการ หรือชิ้นงาน  

          ปัจจุบัน การมองความสำเร็จผ่านแว่นนี้ได้เปลี่ยนไปในหลายๆ พื้นที่ การวัดระดับความรู้ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็น ‘ผู้เรียน’ ที่ระบบการศึกษาให้ความสำคัญ เราจึงเห็นห้องเรียนเปลี่ยนหน้าตาไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นพื้นที่ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านศักยภาพและแนวทางของตัวเอง

          จากแนวคิดนี้เอง สถานศึกษาหลายแห่งจึงเริ่มปรับตัวเพื่อใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนโฉมให้ห้องเรียนเป็นสถานที่ที่เน้น ‘สุขภาวะ’ (Wellbeing) ของผู้เรียนเป็นสำคัญ และเพื่อให้กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

          เพราะเห็นการเปลี่ยนผ่านและความสำคัญของปัจจัยเหล่านี้ สหพันธ์เพื่อการศึกษาที่ไม่แสวงหาผลกำไรในประเทศแคนาดาอย่าง The Fédération des établissements d’enseignement privés (FEEP) จึงได้จัดตั้งรางวัล Education Innovation Awards ขึ้นมาในปี 2017 สำหรับนวัตกรรมเพื่อการศึกษาที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกด้านการเรียนรู้

          ในปีที่ผ่านมา โจทย์ของรางวัลนั้นชัดเจน คือ นอกจากนวัตกรรมต้องช่วยแก้ปัญหาในห้องเรียนแล้ว ยังต้องส่งเสริมประเด็นทางสังคมที่แคนาดาย้ำความสำคัญเสมอ นั่นคือ ความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนทุกกลุ่ม

          บทความนี้จึงชวนมาดูตัวอย่างนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล เพื่อชี้ให้เห็นว่า ‘นวัตกรรมในห้องเรียน’ ไม่ได้แปลว่าต้องนำเทคโนโลยีใหม่เอี่ยมหรือยังไม่มีใครทำมาก่อนมาประยุกต์ใช้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึง เราจะสรรหาเครื่องมือมาแก้ไขปัญหาให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีได้อย่างไรต่างหาก

Le Grand Programmathon โดย Mont-Saint-Sacrement High School 

          โรงเรียน Mont-Saint-Sacrement High School เล็งเห็นความจริงที่ว่าเมื่อเด็กต้องถูกกักตัวอยู่บ้านนานๆ ความสนใจในเรื่อง ‘เกม’ น่าจะพุ่งสูงขึ้น สวนทางกับโอกาสในการเรียนรู้ที่จำกัดด้วยโลกภาวะ อาจารย์จึงอยากพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส โดยการใช้เกมเป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับการเรียนรู้

          ด้วยความที่เด็กๆ มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว จึงริเริ่มโครงการ Le Grand Programmathon ขึ้นมา เป็นโครงการประกวดการสร้าง ‘เกม’ บนแพลตฟอร์ม ‘Scratch’ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กเกิดการเรียนรู้ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะทางศิลปะ ทักษะการเขียนโปรแกรม และทักษะการจัดการ

          Le Grand Programmathon แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่

          หนึ่ง คือช่วง 8 สัปดาห์แรก ทางโครงการเลือกใช้โปรแกรมสร้างเกมสำเร็จรูป ต่อให้เขียนโปรแกรมไม่เป็นมาก่อนก็สามารถเรียนรู้ได้ในเวลาไม่นาน ในระยะแรกนี้ ผู้เข้าร่วมแข่งขันจะได้รับคลิปวิดิโอเกี่ยวกับการสร้างเกม เคล็ดลับจากนักสร้างเกมมืออาชีพ ก่อนปิดท้ายด้วยโจทย์แบบฝึกหัดจากอาจารย์ เพื่อให้เด็กนำเสนองานในสัปดาห์ต่อไป เป็นการตรวจสอบความคืบหน้าและการเรียนรู้ของเด็กระหว่างทางไปในตัว

          สอง คือการจัดแข่งขัน หลังจากฝึกฝนฝีมือมาตลอด 2 เดือน ก็ถึงเวลาที่เด็กๆ จะมาแข่งกันออกแบบวิดีโอเกมเป็นทีม โดยโจทย์จะถูกแจกในเช้าวันนั้นเอง โครงการแนะนำว่าในหนึ่งทีมควรจะมีโปรแกรมเมอร์รุ่นเยาว์หนึ่งคนและศิลปินรุ่นเยาว์อีกหนึ่งคน เพื่อสร้างเกมตามโจทย์ด้วยทักษะฝีมือที่ฝึกปรือ ผู้ชนะอาจจะไม่ใช่คนที่เขียนโปรแกรมเก่งที่สุด แต่เป็นคนที่ออกแบบเกมได้ตรงโจทย์ที่สุด และนำเสนอได้ในเวลาที่กำหนด

          และสาม คือการตัดสิน ภายในเย็นวันแข่งขัน เกมทั้งหมดจากทุกทีมจะถูกตัดสินโดยคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากวงการเกมตัวจริง เพื่อหาผู้ชนะรางวัลอันดับ 1-5 ในแต่ละหมวดหมู่เกม แต่เหนือสิ่งอื่นใด คณาจารย์ผู้อยู่เบื้องหลังได้เน้นย้ำว่าการจัดอันดับเป็นเพียงเรื่องรองเท่านั้น การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และการค้นหาตัวเองของเด็กต่างหากคือสิ่งสำคัญ

          สำหรับเกมจากเหล่าผู้เข้าแข่งขันที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดในปีแรก คือ ‘Cuisine en folie’ (อาหารและเครื่องดื่ม) เกมแนวแพลตฟอร์มคล้ายมาริโอ้ แต่เปลี่ยนตัวละครเป็นอาหาร ผัก ผลไม้หรือเครื่องครัวแทน ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างดีว่าถ้าจัดการเรียนรู้ของเด็กได้ตรงกับความชอบหรือความสนใจ พวกเขาสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ดี

          โรงเรียน Mont-Saint-Sacrement High School กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า เสียงสะท้อนจากนักเรียนที่ร่วมกิจกรรมบอกว่าอาชีพโปรแกรมเมอร์หรือบุคลากรในวงการเกมเป็นอาชีพที่คนรุ่นใหม่สนใจ ยิ่งสร้างเวทีให้พวกเขาได้ทำสิ่งที่ชื่นชอบ และผลจากการตอบแบบสอบถามเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าถ้ามีการจัดการแข่งขันอีก พวกเขาก็จะเข้าร่วมอีกอย่างแน่นอน 

          ดังนั้นนอกจากเปิดโอกาสให้เด็กค่อยๆ เรียนรู้ว่าชอบอะไร การมีพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงออกก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน โครงการ Le Grand Programathon บอกเราแบบนั้น

4 นวัตกรรมการศึกษาแคนาดา ส่งเสริมสุขภาวะการเรียนรู้ของผู้เรียน
Carotte EN FUITE เกมที่ได้รับรางวัลที่ 1 ประเภท Gladiators (Beginners)
Photo: École secondaire Mont-Saint-Sacrement

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ควบคุมโดยรูม่านตา โดย Peter Hall School

          เป็นเวลาหลายปีที่ Danielle Gravel และ Tünde Szabad นักกิจกรรมบำบัดประจำ Peter Hall School ได้ทำหน้าที่สอนนักเรียนผู้มีความต้องการพิเศษ เนื่องจากข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวและสติปัญญา เด็กกลุ่มนี้จึงไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้แบบปกติได้ ทั้งคู่คิดว่าเด็กๆ ควรมีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนและคนรอบข้าง หรือได้ลองเรียนรู้ด้วยตัวเองบ้าง แต่อุปสรรคที่สำคัญคือสื่อการเรียนรู้แบบปกติกลับไม่เอื้อให้นักเรียนกลุ่มนี้ได้ทำแบบนั้น

          หลังจากพยายามหาทางออกอยู่หลายปี ทดลองใช้ทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์มาหลายอย่างแต่ก็ไม่เป็นผล สุดท้าย Danielle และ Tünde ก็พบนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว นั่นคือการประยุกต์ใช้ Tobii Dynavox อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่สามารถสั่งการได้ผ่านการเคลื่อนไหวของรูม่านตา แค่มองไปบริเวณไอคอนที่อยากจะกด ซอฟต์แวร์จะสามารถเข้าใจและปฏิบัติตามความต้องการของผู้ใช้ นี่จึงเป็นการแก้ไขข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหวในการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

          Danielle และ Tünde เริ่มต้นจากนักเรียนผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว 2 คน เพื่อดูว่านักเรียนสามารถใช้งานและเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์นี้ได้หรือไม่ ซึ่งผลที่ได้นั้นดีเกินคาด เพราะนอกจากจะเรียนรู้การใช้งานได้เป็นอย่างดีแล้ว นักเรียนยังสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้อย่างเสรี นวัตกรรมนี้ช่วยให้ผู้สอนได้สื่อสาร ทำความรู้จัก และค้นพบศักยภาพที่ซ่อนเร้นของเด็กกลุ่มพิเศษในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน Tobii Dynavox ทำให้นักเรียนสามารถสื่อสารกับผู้สอนได้เพียงแค่ขยับรูม่านตาเท่านั้น อีกทั้งผู้สอนยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กให้มีพัฒนาการมากขึ้น ในปัจจุบันนักเรียนกลุ่มผู้มีความต้องการพิเศษใช้ระบบนี้ถึง 15 คน

          สุดท้ายทั้งคู่ทิ้งท้ายไว้ด้วยว่านอกจากเป้าหมายด้านการเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จ นักเรียนผู้พิการยังสามารถเชื่อมต่อกับสังคมผ่านอุปกรณ์ดังกล่าวได้ด้วย เป็นการเพิ่มกิจกรรมยามว่างที่ดีต่อสุขภาวะไปในตัว

4 นวัตกรรมการศึกษาแคนาดา ส่งเสริมสุขภาวะการเรียนรู้ของผู้เรียน
Photo: École Peter Hall School

การใช้งาน Tobii Dynavox ที่สามารถใช้งานได้ด้วยการเคลื่อนไหวของรูม่านตา

Take care of yourself! โดย Collège Laval

          การเรียนรู้เรื่องสุขภาพจิตในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยการสอนว่า ‘สุขภาพจิตของทุกคนคือเรื่องสำคัญ’ ดูจะไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตอีกแล้ว เยาวชนที่กำลังเติบโตต้องการวิธีที่จะทำให้เข้าใจจิตใจตัวเองและผู้อื่นมากกว่านั้น Collège Laval จึงมีหลักสูตรด้านจิตวิทยาให้นักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้ลองศึกษาตั้งแต่ปี 2015 เพียงแต่ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา การเรียนการสอนด้านจิตวิทยายังไม่ตอบโจทย์สักเท่าไหร่ อีกทั้งองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาก็ยังพัฒนาไปเรื่อยๆ ทุกปี คณาจารย์ผู้สอนจึงเล็งเห็นว่าอยากผลักดันเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม จึงริเริ่มโครงการ Take care of yourself! ขึ้นมา

          โครงการนี้ตั้งต้นจากความคิดที่ว่า ในการเรียนรู้เรื่องปัญหาสุขภาพจิตนั้น นอกจากความเข้าใจในตัวเองแล้ว ความเข้าใจในผู้อื่นก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน แต่การจะเข้าใจผู้อื่นก็ไม่ใช่แค่การทราบชีวประวัติหรือความเป็นมา ทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้หลักการและมีปฏิสัมพันธ์เพื่อที่จะเข้าใจกันและกัน 

          ดังนั้นคณาจารย์เลยเลือกวิธีการที่ตรงและตอบโจทย์ที่สุด คือให้นักเรียนสัมภาษณ์บุคลากรต่างๆ ในโรงเรียน เพื่อที่จะได้เรียนรู้มุมมองของผู้อื่นมากขึ้น พร้อมกับถ่ายเก็บไว้เป็นคลิปวิดีโอ แล้วนำฟุตเทจทั้งหมดมารวมกันสร้างเป็นสารคดีที่ชื่อว่า Take care of yourself! นั่นเอง

          แต่นอกเหนือจากการกำหนดโจทย์ในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก คณาจารย์ประจำวิชายังมีการจัดการเรียนรู้ควบคู่กันไปด้วย เช่น การจัดคลาสเรียนเกี่ยวกับจิตวิทยาในการทำงาน ไปจนถึงการสอนทำหนังสารคดี ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติและลงมือทำด้วยตัวเองทั้งนั้น

          หนังสารคดีที่เสร็จสมบูรณ์จะถูกนำมาเปิดฉายให้ทุกคนดู พร้อมอภิปรายร่วมกันถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ โดยตัวแทนของโครงการนี้กล่าวไว้ว่ากิจกรรมดังกล่าวสามารถสร้างความเข้าใจในคนอื่นให้เกิดกับตัวนักเรียนได้มากขึ้นจริงๆ อีกทั้งยังเป็นการสร้างสัมพันธ์ภายในสถานศึกษาให้ดีขึ้นด้วย

วิดีโอรวบรวมการทำงานของนักเรียนในหลักสูตรจิตวิทยา

Back to school reinvented โดย École Vision St-Augustin

          ในช่วงชั้นประถมศึกษา เชื่อว่าหลายโรงเรียนน่าจะใช้มาตรการ ‘เปลี่ยนห้องเรียน’ นั่นคือเด็กที่เคยอยู่ในห้องเรียนเดียวกันเมื่อปีก่อนถูกจับคละใหม่ในปีการศึกษาต่อไป เพราะมุ่งหวังให้เด็กมีพัฒนาการด้านการเข้าสังคมผ่านกระบวนการนี้

          จริงอยู่ที่วิธีดังกล่าวนั้นเหมาะสมกับหลักพัฒนาการของเด็กที่ช่วงวัยดังกล่าวควรได้รับทักษะทางสังคมมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เด็กต้องเจอกับสิ่งแวดล้อมและเพื่อนใหม่ในช่วงแรกของการเปิดเทอม จนบางครั้งก็นำมาซึ่งความเครียดและความกังวลใจมากเอาการอยู่เหมือนกัน 

          จุดนี้เองที่คณาจารย์ของ École Vision St-Augustin โรงเรียนระดับประถมประจำเมือง St-Augustin พบว่า มีเด็กจำนวนมากที่ปรับตัวไม่ได้หรือปรับตัวได้ช้ากว่าคนอื่น จนนำมาซึ่งผลเสียต่อเด็ก ทั้งในแง่ของการเรียนรู้ การเข้าสังคม และพัฒนาการทางอารมณ์

          โรงเรียนเล็งเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหา จึงเริ่มโครงการ Back to school reinvented ขึ้นมา โดยกำหนดให้ 2 อาทิตย์แรกของการเปิดเทอม เด็กทุกคนยังไม่ต้องเรียนรู้เชิงวิชาการตามแบบปกติ แต่นักเรียนจะได้ทำกิจกรรมที่กระตุ้นให้เด็กรู้เท่าทันอารมณ์ เด็กจะมีโอกาสได้เอาใจใส่ในสิ่งที่สนใจและสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ผ่านบรรยากาศสบายๆ คล้ายกับว่ายังปิดเทอมอยู่ เพียงแค่มาใช้เวลาที่โรงเรียนเท่านั้น

          นอกจากนี้ โรงเรียนยังส่งครูประจำชั้นทุกคนไปฝึกอบรมหลักสูตรวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาอารมณ์ภายในเด็กด้วย ทำให้ครูทุกคนสามารถคิดวิธีการสอนที่เหมาะสมกับเด็กของตัวเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความคุ้นเคยระหว่างเด็กกับครูด้วย เพื่อในอนาคตที่เปิดเทอมอย่างเป็นทางการ เด็กจะได้มีครูเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขาเสมอ

          สำหรับผลลัพธ์ ครูผู้สอนในแต่ละระดับชั้นต่างลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่าเด็กที่ได้ผ่านโครงการ Back to school reinvented มีแรงจูงใจและอารมณ์ที่ดีขึ้นกว่าปีก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด ครูบางท่านให้ความเห็นไว้ด้วยว่าการที่เด็กรู้สึกไม่กดดันคือกุญแจสำคัญที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างแท้จริง 

          นอกจากโครงการเหล่านี้ยังมีนวัตกรรมการเรียนรู้อีกหลายโครงการที่ได้รับรางวัล เช่น พาเด็กเล็กไปทำปุ๋ยหมัก เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับชีววิทยาและระบบนิเวศในระหว่างที่ปุ๋ยเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่งการนำเมล็ดพืชที่เคยถูกส่งขึ้นไปบนอวกาศกลับลงมาให้เด็กๆ ทดลองปลูก และวิเคราะห์เปรียบเทียบกับเมล็ดพืชปกติทั่วไป (โครงการ Tomatosphere) เพื่อเป็นโจทย์ให้พวกเขาได้ฝึกตั้งสมมติฐาน ทดสอบ เก็บข้อมูล และพิสูจน์ว่าสิ่งที่ตนเองคิดนั้นถูกต้องหรือไม่

          สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะไอเดียหรือนวัตกรรมไหน ถ้าสามารถตอบโจทย์และเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพกับเด็กได้ ทั้งหมดก็ล้วนเป็นเรื่องที่น่านำมาขบคิดและศึกษาเป็นแบบอย่างทั้งนั้น เพื่อให้การศึกษาในประเทศหมุนตามกับความเป็นไปของโลกอย่างที่ควรจะเป็น

บรรยากาศของกิจกรรม Back to school reinvented ที่เกิดขึ้นใน 2 อาทิตย์แรกของการเปิดเทอม


ที่มา

บทความ “Prix de l’innovation en éducation 2023 : Des projets inspirants pour transformer l’école” จาก ecolebranchee.com (Online)

บทความ “École secondaire Mont-Saint-Sacrement” จาก innoverstg.wpengine.com (Online)

บทความ “École Vision St-Augustin” จาก innoverstg.wpengine.com (Online)

บทความ “Peter Hall” จาก innoverstg.wpengine.com (Online)

บทความ “Collège Laval” จาก innoverstg.wpengine.com (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก