101 บทเรียนสำหรับนวัตกร
ตอนที่ 39 หกขั้นตอนสู่การเป็นนวัตกร
คุณอาจมีข้อสงสัยหลายข้อในช่วงเริ่มต้นสร้างนวัตกรรม เช่น เราต้องการอะไรจากนวัตกรรมกันแน่? เราต้องทำอะไรบ้าง? ดังนั้น เราจึงควรออกแบบกระบวนการสร้างนวัตกรรมให้เป็นระบบ เพื่อให้จัดลำดับได้ว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง กระบวนการที่สมเหตุสมผลนำไปปฏิบัติได้จริงจะทำให้เกิดความชัดเจน และผู้นำไปปฏิบัติก็มีหลักยึดในการทำกิจกรรมต่างๆ ‘หกขั้นตอนสู่การเป็นนวัตกร’ คือหนึ่งในเครื่องมือที่ผมพัฒนาขึ้น สามารถใช้ได้กับทั้งในระดับบุคคล ทีมงานสตาร์ทอัป และทีมนวัตกรรมในองค์กรใหญ่
ขั้นตอนที่ 1 คือพิจารณาว่า เวลานี้คือช่วงเวลาอันเหมาะสมที่คุณ ทีมงานของคุณ และองค์กรของคุณ จะริเริ่มโครงการนวัตกรรมใช่หรือไม่? ถ้ายังไม่ใช่ ก็ควรจะเลื่อนออกไปก่อน ขั้นตอนที่ 2 คือเลือกกำหนดทิศทางด้วยการวางเป้าหมายที่ชัดเจนให้กับโครงการ ขั้นตอนที่ 3 คือเปิดกว้างทางความคิด และสำรวจแนวโน้มต่างๆ เทคโนโลยีใหม่ และความต้องการของลูกค้า เพราะคุณต้องการข้อมูลเชิงลึกก่อนที่จะได้ไอเดียใหม่ๆ
ไอเดียหลายๆ แบบอาจจะผุดขึ้นมาพร้อมกัน และนั่นก็ถึงเวลาของ ขั้นตอนที่ 4 คือระดมสมองแบบมีระบบ เมื่อคุณโต้แย้งกันด้วยเหตุผลจนได้ฉันทามติ และกลั่นกรองไอเดียมาได้สัก 3-5 ไอเดีย เพื่อไปทดลองทำต่อ ขั้นตอนที่ 5 คือการนำไอเดียเบื้องต้นไปทดสอบและเรียนรู้จากความคิดเห็นผู้ใช้ เพื่อพิจารณาดูว่าไอเดียนี้น่าสนใจหรือไม่ เมื่อพบไอเดียที่น่าสนใจก็สามารถนำไปพัฒนาเป็น business case (เอกสารที่เล่าถึงเหตุผลในการริเริ่มและศักยภาพของโครงการ) ขั้นตอนที่ 6 เกิดขึ้นหลังจากคณะกรรมการหรือฝ่ายการเงินอนุมัติแล้ว คุณสามารถนำไอเดียไปลงมือทำและขยายผลได้ ทั้งนี้ จงอย่าลืมว่า…คุณต้องมีความมุ่งมั่น ไม่ท้อถอยง่ายๆ
เพราะเหตุใดผมถึงใช้ภาพคนในการนำเสนอโมเดล หกขั้นตอนสู่การเป็นนวัตกร?
คำตอบคือ นวัตกรรมเริ่มต้นที่ ‘คุณ’
จงเตรียมพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย
ที่มา
หนังสือ Inspiration for Innovation: 101 Lessons for Innovators เขียนโดย Gijs van Wulfen