101 บทเรียนสำหรับนวัตกร
ตอนที่ 38 ให้เวลาพนักงานเพื่อสานต่อไอเดียให้เป็นจริง
นวัตกรในองค์กรอาจรู้สึกหงุดหงิดใจ เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารเท่าที่ควร ผมมี 3 โควทเด็ดๆ ที่คัดเลือกมาจากคอลเลกชันคำคมของผม ซึ่งน่าจะอธิบายปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี
“ผู้บริหารไม่ยอมรับความจริง ว่าไอเดียดีๆ และแผนการที่จะทำให้ไอเดียเหล่านี้กลายเป็นจริง อาจจะมาจากพนักงานธรรมดาๆ ที่ไม่ได้นั่งอยู่ในห้องประชุมของคณะกรรมการ ห้องผู้บริหาร และทีมบริหาร”
“มันน่าขันที่คนที่มีไอเดียมากมายกลับไม่กล้าพูดออกมา เพราะกลัวจะถูกมองว่าขัดแย้งกับความเชื่อเดิม ทั้งที่ เขามีโอกาสทำประโยชน์และสร้างผลกำไรให้องค์กรได้มากมาย”
“ไม่ว่าจะมีไอเดียที่ดูสร้างสรรค์และน่าจะทำกำไรให้กับองค์กรมากมายแค่ไหนตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ทำงานมา ก็มีแค่ไม่กี่ไอเดียที่ถูกนำมาใช้งานจริง ไอเดียส่วนมากจะถูกยุติลงเมื่อคุณได้คุยกับผู้บริหาร แล้วเขาดันทราบว่าต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการหรือรูปแบบการทำงานของคนในองค์กร”
ถึงเวลาแล้ว…ที่ต้องปรับเปลี่ยนและลงมือทำอะไรสักอย่าง ผู้บริหารควรให้เวลาพนักงาน เพื่อเขาจะได้มีโอกาสนำไอเดียดีๆ ไปทดลองลงมือทำ องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมก็มักจะเลือกใช้วิธีการแบบนี้ เช่น บริษัท 3M ริเริ่มโครงการ ‘15% Program’ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940s เพื่อให้พนักงานเอาเวลาเล็กน้อยจากการทำงานไปลองทำไอเดียให้สำเร็จ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ได้รับการจดสิทธิบัตรถึง 22,800 ชิ้น ก็เกิดขึ้นเพราะโปรแกรมนี้
นโยบาย ‘20 percent time’ ของ Google คือการเปิดโอกาสให้พนักงานใช้ 20% ของเวลาทำงานในการค้นหาและทดลองไอเดียใหม่ๆ ซึ่งผลลัพธ์จากแคมเปญนี้คือผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น Google News, Gmail และ AdSense ถึงแม้ว่าจะมีพนักงานเพียง 10% ที่ใช้เวลา 20% กับการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ตามแคมเปญ
คุณไม่จำเป็นต้องรีบตั้งโครงการอย่างเป็นทางการหรอก เพราะ Facebook เอง ก็เริ่มต้นจากจัดกิจกรรม Hackathon เป็นการภายในเพื่อให้พนักงานคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ปุ่ม ‘Like’ ของ Facebook ก็เป็นไอเดียที่เกิดขึ้นจากหนึ่งใน Hackathon เหล่านั้น
พาทรีซ เบิร์นไซด์ (Patrice Burnside) ได้เล่าประสบการณ์ให้ผมฟัง “ประสบการณ์ที่ดีที่สุดของฉันคือการส่งข้อเสนอนวัตกรรมในงาน Amazon Innovation Forum ตอนที่ฉันทำงานให้กับที่นั่น ถึงงานของฉันคืองานเกี่ยวกับคอนเทนต์ แต่ข้อเสนอนวัตกรรมที่ส่งไปเป็นเรื่องของการกำหนดราคา การตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฉันมีโอกาสได้นำเสนอต่อผู้บริหารด้วย และโชคดีที่พวกเขาใจกว้างพร้อมเปิดรับฟังสิ่งใหม่ๆ สนใจใคร่รู้ว่าฉันจะทำอะไร และให้การสนับสนุน นี่คือวัฒนธรรมองค์กรที่ควรได้รับการส่งเสริม เมล็ดพันธุ์แห่งนวัตกรรมควรจะได้รับโอกาสให้เติบโตแม้ในพื้นที่ที่เราคาดไม่ถึง”
ดังนั้น หยุดทำให้พนักงานหงุดหงิดใจแล้วให้เวลาเขาได้ทดลองไอเดียใหม่ๆ ไอเดียนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่อาจเกิดขึ้นจากไอเดียของใครสักคนในองค์กรก็เป็นได้
ที่มา
หนังสือ Inspiration for Innovation: 101 Lessons for Innovators เขียนโดย Gijs van Wulfen