101 บทเรียนสำหรับนวัตกร
ตอนที่ 23 ใช้เรื่องราวความหลังเป็นพลังขับเคลื่อนนวัตกรรม
เมื่อไม่มีสิ่งที่ทำสืบต่อกันมา…ย่อมไม่มีนวัตกรรม หากไม่มีนวัตกรรม…สิ่งที่จะทำสืบต่อไปย่อมไม่มี”
(Without tradition no innovation. Without innovation no tradition.)
ประโยคนี้ผุดขึ้นมาในความคิด เมื่อผมนึกถึงการเดินทางไปเยือนรัสเซียเป็นครั้งแรก ผมเห็นมรดกวัฒนธรรมเจริญงอกงามอยู่ท่ามกลางความทันสมัยของเมืองมอสโก แล้วผมก็นึกขึ้นมาได้ว่าการค้นพบอันยิ่งใหญ่ในอดีต ขององค์กร คือปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกิดนวัตกรรมในวันนี้
ทุกๆ องค์กรย่อมเคยเป็นองค์กรเล็กๆ ที่แหวกขนบมาก่อน เมื่อเจริญเติบโตผ่านกาลเวลา ความกล้าเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจอาจจะลดน้อยลง ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการเริ่มเกษียณตัวเองออกไป มีผู้จัดการเข้ามาทำงานแทน เกิดกฎระเบียบและนโยบายที่ซับซ้อน จนกลายเป็นอุปสรรคในการสร้างนวัตกรรม นี่อาจจะไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน แต่วันใดที่อัตราการเปลี่ยนแปลงภายนอกองค์กรเกิดขึ้นไวกว่าภายใน คนทำงานคงจะเริ่มระลึกได้ว่า “ถึงเวลาต้องคิดค้นนวัตกรรมแล้ว” ในฐานะนวัตกรผมขอบอกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เคารพแบบแผนหรือวัฒนธรรมองค์กร มักจะประสบความสำเร็จกว่าการทำลายหรือท้าทายความเชื่อเดิม
แล้วเราจะทำอย่างไรให้คนที่ทำงานตามแบบแผนหันมาสร้างนวัตกรรมมากขึ้น? จงลองหันกลับมาศึกษาอดีตขององค์กรดู ทุกๆ แห่งล้วนเริ่มต้นจากการเป็นหน่วยงานที่ท้าทายความเชื่อเดิม ก่อนที่จะกลายเป็นบริษัทใหญ่อุ้ยอ้ายเหมือนเรือบรรทุกน้ำมัน องค์กรของคุณก็เคยคล่องตัวเหมือนเรือสปีดโบตมาก่อน ลองคุยกับคนเก่าคนแก่ ถามเขาว่าเคยทลายกรอบแล้วสร้างนวัตกรรมได้อย่างไร
บริษัทแรกที่ผมเริ่มทำงานในตำแหน่งผู้จัดการผลิตภัณฑ์คือ Honig ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1867 ผลิตภัณฑ์หลักคืออาหารแห้ง เช่น เส้นพาสตา ผงซุป และแป้งผสมสำหรับทำเค้ก Honig เริ่มต้นจากธุรกิจขนาดครอบครัว แต่ 120 ปีต่อมา ก็กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความอนุรักษนิยมสูง จากเรือสปีดโบตกลายเป็นเรือบรรทุกน้ำมันใหญ่อุ้ยอ้าย ความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมลดลง ในตอนนี้ Honig ยังสามารถรักษาความเป็นผู้นำด้านการผลิตอาหารเอาไว้ได้ แต่จะรักษาความเป็นองค์กรนวัตกรรมเอาไว้ได้อย่างไร
จากเอกสารบันทึกขององค์กร Honig เป็นผู้คิดค้นผงซุป โดยผลิตภัณฑ์แรกคือซุปเวอร์มิเซลลี ที่ถูกผลิตขึ้นในปี 1930 (โชคดีที่ตอนนั้นคนเนเธอร์แลนด์ไม่รู้ว่าเวอร์มิเซลลีในภาษาอิตาเลียนแปลว่าหนอนตัวเล็กๆ) เรื่องราวของการค้นพบตลาดสินค้าใหม่ในปี 1930 ทำให้นักการตลาดในอีก 60 ปีให้หลัง นำมาใช้เป็นแรงผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ เมื่อผู้บริหารทราบว่า Honig เคยเป็นองค์กรที่ริเริ่มนวัตกรรมมาก่อน ก็ยินดีที่จะสนับสนุนโครงการนวัตกรรมต่อไป
ดังนั้น ถ้าถามว่าสิ่งที่ทำสืบต่อกันมาจนเป็นธรรมเนียมสามารถนำพาให้เกิดนวัตกรรมได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ ลองไปคุยกับคนเก่าคนแก่ ศึกษาประวัติขององค์กร ค้นหาเรื่องราวการค้นพบนวัตกรรมในอดีต สิ่งเหล่านั้นจะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อีกครั้ง
ที่มา
หนังสือ Inspiration for Innovation: 101 Lessons for Innovators เขียนโดย Gijs van Wulfen