101 บทเรียนสำหรับนวัตกร
ตอนที่ 22 นวัตกรรมที่ล้มเหลวมีคุณค่าดุจเหรียญตราเกียรติยศ
เมื่อคุณได้ไอเดียใหม่ๆ และพยายามจะแปลงความคิดให้เป็นสิ่งจับต้องได้ คุณอาจไม่ประสบความสำเร็จทุกครั้งไป สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คืออย่ามองว่าไอเดียที่ไม่สามารถกลายเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้เป็นความล้มเหลว เพราะบทเรียนนั้นมีคุณค่ามากจนประเมินไม่ได้ ดังกรณีตัวอย่างนี้
บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งจากโซนตะวันออกกลางติดต่อให้ผมไปช่วยพัฒนากระบวนการสร้างนวัตกรรม เขาต้องการเปลี่ยนแปลงองค์กรด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้ หลังจากระดมไอเดียอย่างเข้มข้น ทีมงานก็นำเสนอ 5 โปรเจกต์ กรรมการบริหารรู้สึกประทับใจในคุณภาพของผลงาน และเลือก 3 โปรเจกต์ ไปพัฒนาต่อ
ระยะต่อไป คือการวิเคราะห์จุดอ่อนของแต่ละโปรเจกต์อย่างละเอียดลออ โปรเจกต์หนึ่งคือการบันทึกขั้นตอนออร์เดอร์ลูกค้าด้วยระบบดิจิทัล หัวหน้าโปรเจกต์เก็บข้อมูลจากกลุ่มลูกค้าด้วยตนเองและพบว่า เมื่อนำไปทดลองใช้ ลูกค้ากลับไม่ชอบระบบนี้เลย แทนที่จะรู้สึกว่ากระบวนการทำงานเรียบง่าย ลูกค้ารู้สึกว่ามันยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น
ดังนั้น โปรเจกต์นี้จึงถูกระงับเอาไว้ก่อน หัวหน้าโปรเจกต์อาจจะรู้สึกผิดหวังหากมองในมุมของผลสัมฤทธิ์ของโครงการ แต่ในฐานะนวัตกร เขาไม่ควรจะรู้สึกผิดหวังเลย เพราะนั่นหมายถึงเขามีโอกาสได้สัมผัสข้อมูลเชิงลึกจากลูกค้า พัฒนาแนวคิด วางแผนจัดการนวัตกรรม ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ที่ดำเนินโครงการอยู่ เขามีโอกาสได้เรียนรู้จากความผิดพลาดมากเลยทีเดียว
ประธานฝ่ายนวัตกรรมบอกหัวหน้าโปรเจกต์คนนี้ว่า “คุณควรให้คุณค่ากับความล้มเหลวและเชิดชูมัน ให้เหมือนกับการติดเหรียญตราเกียรติยศ” และผมก็เห็นด้วยกับเขา
ที่มา
หนังสือ Inspiration for Innovation: 101 Lessons for Innovators เขียนโดย Gijs van Wulfen