101 บทเรียนสำหรับนวัตกร
ตอนที่ 17 นวัตกรตัวจริงจะไม่ยอมรับ 7 “ไม่” ที่คนชอบใช้เป็นข้ออ้าง
“ผู้รอดชีวิต ไม่ใช่เผ่าพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุด แต่เป็นผู้ที่สามารถปรับตัวได้ดีที่สุดต่างหาก”
คำกล่าวของ ลีออน ซี. เมกกินสัน (Leon C. Megginson) ยังคงเป็นจริงเสมอ ในโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมคุณถึงต้องรู้จักสร้างนวัตกรรม พัฒนาแนวคิด ต้นแบบ และแผนธุรกิจที่จำเป็นต่อการอยู่รอดขององค์กร
ความยากในการสร้างนวัตกรรม คือ นวัตกรรมต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติของคนหมู่มาก สิ่งใหม่ๆ ถึงจะเกิดขึ้นได้ คุณอาจจะประสบความสำเร็จในฐานะนักประดิษฐ์ได้ด้วยตนเอง แต่คุณจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทีมงานในองค์กร ถ้าคุณต้องการสร้างนวัตกรรม
อุปสรรคที่สำคัญที่สุดของนวัตกรรมคือคำว่า ‘ไม่’
นวัตกรที่ประสบความสำเร็จ จะไม่ยอมสยบต่อคำว่า ‘ไม่’ 7 ข้อนี้อย่างเด็ดขาด
1. ไม่ – เราทำแบบนี้มาตลอด
โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โลกภายนอกเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าภายในองค์กรของเราเสียด้วยซ้ำ ไม่ช้าก็เร็วต้องเกิดปัญหาขึ้นแน่ๆ หากยังปฏิบัติในแบบเดิม ดังนั้น เราจึงต้องปรับเปลี่ยนและคิดต่าง
2.ไม่ – ลูกค้าของเราไม่ชอบแบบนี้หรอก
แน่ใจเหรอ? ลองออกไปคุยกับลูกค้าดูก่อน ว่าเขารู้สึกอย่างไรกับไอเดียใหม่ๆ ที่เราคิดขึ้นมาและทดลองใช้ ลองทำแบบสำรวจออนไลน์ดูก็ได้
3. ไม่ – มันเป็นไปไม่ได้
แดน บราวน์ (Dan Brown) เคยกล่าวไว้ “ทุกสิ่งเป็นไปได้ เพียงแค่ส่วนที่เป็นไปไม่ได้มันยาวยนานกว่าเท่านั้นเอง”
4. ไม่ – มันดูไม่สมเหตุสมผล
แน่นอนสิ ถ้ามันดูสมเหตุสมผลและเข้ากันได้กับระบบที่ใช้ในปัจจุบัน มันจะเป็นนวัตกรรมได้อย่างไร อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ได้กล่าวไว้ว่า “ถ้าไอเดียนั้นไม่ได้ดูโง่เขลาในช่วงแรกเริ่ม มันคงจะไม่ใช่ความหวังครั้งใหม่”
5. ไม่ – เราไม่มีงบประมาณ
แล้วยังไงหรือ? หาทางเจียดงบประมาณจากโครงการอื่นมาใช้ทดลองทำก่อนก็ได้ แล้วค่อยไปสารภาพผิดกับหัวหน้า “การขออภัยง่ายกว่าการขออนุญาตเสมอ”- เกรซ ฮอปเปอร์ (Grace Hopper)
6. ไม่ – ผู้บริหารไม่เห็นด้วยแน่
“ผู้บริหารจะอนุญาตให้ริเริ่มโครงการนวัตกรรมก็ต่อเมื่อการอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร เป็นความเสี่ยงที่มากกว่า” – ไคจส์ แวน วูลเฟน (Gijs Van Wulfen) – เลือกเวลาที่เหมาะสม
7. ไม่ – มันเสี่ยงเกินไป
“คุณไม่มีวันที่จะพบน่านน้ำใหม่ ถ้ายังไม่กล้าละสายตาจากชายฝั่ง” – อังเดร ไกด์ (Andre Gide) นวัตกรรมคือความเสี่ยง แต่เราลดอัตราความเสี่ยงนั้นได้ด้วยการตั้งโปรเจกต์ทดลองนวัตกรรมขึ้น
เตรียมตัวให้พร้อม คุณมีโอกาสที่จะต้องเผชิญหน้ากับการขัดขวางและโจมตีจากเพื่อนร่วมงาน นวัตกรทุกคนต้องผ่านจุดนั้น ผมเองก็เคยเจอเช่นเดียวกัน ตอนที่ผมพยายามผลักองค์กรให้เดินหน้าด้วยนวัตกรรม ผมโดนโจมตีด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ตอนนั้นผมหวั่นไหว เสียใจ และผิดหวังกับเพื่อนร่วมงาน องค์กร และก็ตัวผมเองด้วย
เมื่อได้สติ ผมก็เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง นวัตกรต้องรู้จักวิธีแสวงหาการสนับสนุนภายในองค์กร เพื่อที่จะสนับสนุนแนวคิด ต้นแบบ และแผนธุรกิจของคุณ ไม่อย่างนั้นคุณคงไม่อาจประสบความสำเร็จได้
การสร้างนวัตกรรมไม่ได้สิ้นสุดลงตั้งแต่เจอกับคำว่า ‘ไม่’ เป็นครั้งแรก นั่นคือจุดเริ่มต้นต่างหาก ขอให้คุณประสบความสำเร็จกับการเดินทางบนเส้นทางสายนวัตกรรมของคุณ
ที่มา
หนังสือ Inspiration for Innovation: 101 Lessons for Innovators เขียนโดย Gijs van Wulfen