100 หนังสือดี 14 ตุลาที่ควรอ่าน

2,340 views
6 mins
January 5, 2021

          14 ตุลาคม 2516 เป็นเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย เกิดขึ้นจากการรวมพลังของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนที่ร่วมกันเดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตย ต่อสู้กับเผด็จการทหารคณาธิปไตยที่ครองอำนาจทางการเมืองมายาวนานนับทศวรรษ จนได้รับชัยชนะ แม้จะแลกด้วยการสูญเสียชีวิตของวีรชนไป 77 คน มีผู้บาดเจ็บพิการทุพพลภาพรวมแล้วเกือบเก้าร้อยราย แต่คนรุ่นหลังกลับรับรู้และเข้าใจเรื่องราวเหตุการณ์นี้อย่างพร่าเลือน เพราะถูกกล่าวถึงในตำราเรียนหรือการศึกษาในระบบน้อยมาก และสิ่งพิมพ์เพื่อค้นคว้าศึกษาหาความรู้ก็มีอยู่จำกัด

          ในการจัดงานฉลอง 40 ปี 14 ตุลา เมื่อปี 2556 จึงเกิดโครงการ 100 หนังสือดี 14 ตุลาที่ควรอ่าน โดยการรวบรวมและคัดเลือกรายชื่อหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทั้งประเภทวิชาการหรือสารคดี และบันเทิงคดี ไม่ว่าจะเป็นนิยาย เรื่องสั้น บทกวี การ์ตูน ที่เขียนโดยบุคคลร่วมยุคสมัยและนักเขียนหรือนักวิชาการยุคหลัง เนื่องจากเห็นว่าหนังสือจะเป็นสื่อให้เยาวชนคนรุ่นหลังเกิดความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา สามารถสร้างแรงบันดาลใจหรือเป็นบทเรียนให้กับการขับเคลื่อนประชาธิปไตยในสังคมไทยได้

          โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักอ่านเกิดแรงจูงใจแสวงหาผลงานคุณภาพที่ยังสามารถเข้าถึงได้ เกิดความต้องการอ่านหนังสือดีมีคุณค่า ไม่ว่าจะด้วยการซื้อหาหรือหยิบยืมจากห้องสมุด และมุ่งหวังจะให้เป็นแหล่งข้อมูลสนับสนุนแก่ครูหรือบรรณารักษ์ไว้ใช้สืบค้นอ้างอิงสำหรับจัดการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมในโรงเรียนหรือห้องสมุด ตลอดจนกระตุ้นให้มีการจัดพิมพ์หนังสือดีที่ขาดหายไปในตลาดขึ้นใหม่

          ในกระบวนการคัดเลือกรายชื่อหนังสือนั้น คณะผู้จัดทำโครงการยอมรับว่าการประเมินคุณค่าหนังสือยังขาดความลึกและไม่รอบด้านเพียงพอ เพราะหนังสือหลายเล่มกำเนิดและมีอิทธิพลภายใต้บริบทของยุคสมัย ทำให้การประเมินโดยใช้แว่นของปัจจุบันย้อนกลับไปมองอดีตเป็นอุปสรรคต่อการทำความเข้าใจ ทั้งนี้เพราะหนังสือบางเล่มก็ไม่ได้คงทนต่อกาลเวลา บางเล่มก็มีคุณค่าข้ามยุคสมัย การนิยามความหมายของคำว่า “หนังสือดี” จึงมีลักษณะเลื่อนไหลข้ามไปมาระหว่างหนังสือที่มีคุณค่าเหนือกาลเวลา สามารถวิเคราะห์ตีความได้อย่างหลากหลายเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน กับหนังสือที่มีเนื้อหาจำเพาะยุคสมัยซึ่งสอดคล้องกับวิธีคิดและสภาพทางสังคมภายใต้เงื่อนเวลาหนึ่ง

           หนังสือทั้ง 100 เล่มอาจแบ่งประเภทออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

          กลุ่มล้าสมัย คือหนังสือที่มีบทบาทในการก่อรูปทางอุดมการณ์ของยุคนั้น แต่นำมาใช้ในยุคสมัยนี้ไม่ได้แล้ว

          กลุ่มร่วมสมัย คือหนังสือที่มีเนื้อหาหรือกรอบคิดซึ่งสามารถเชื่อมโยงหรือนำมาใช้วิเคราะห์เหตุการณ์ปัจจุบันได้ นำเสนอสภาพปัญหาหลักที่ยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงหรือไม่ได้รับการแก้ไข

          กลุ่มล้ำสมัย คือหนังสือที่มีการนำเสนอประเด็นในเชิงอุดมคติ เช่น ความยุติธรรม ความเท่าเทียม ซึ่งเป็นเนื้อหาที่มีความยืนยงข้ามกาลเวลา

          กลุ่มรุกสมัย คือหนังสือที่มีเนื้อหาเชิงวิพากษ์วิจารณ์อย่างถึงราก สะท้อนถึงวิญญาณขบถและการต่อสู้ที่ไม่ยอมจำนนต่อสิ่งแวดล้อมเดิมที่ดำรงอยู่ เรียกได้ว่าเป็นจิตวิญญาณที่แท้ของ 14 ตุลา

          อย่างไรก็ตาม การประเมินคุณค่าและคัดเลือกหนังสือเป็นงานที่มีความละเอียดอ่อนไหว มีลักษณะอัตวิสัยสูง จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการค้นคว้าข้อมูล อ่าน คิด และเขียน รวมไปถึงการอภิปรายถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวาง จำเป็นจะต้องขยายการมีส่วนร่วมจากผู้สนใจและเกี่ยวข้องให้มากขึ้น ดังนั้น รายชื่อ 100 หนังสือจึงเป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้นที่จะนำไปสู่กระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยนต่อยอดความคิดหรือการอภิปรายวิเคราะห์วิจารณ์ต่อไป เพื่อสร้างวัฒนธรรมของการวิจารณ์ รู้จักรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มองเห็นความขัดแย้งแตกต่างเป็นเรื่องปกติ สร้างสังคมแห่งปัญญาอันเกิดจากการใช้ความคิด ใช้เหตุและผล มากกว่าการใช้อารมณ์ความรู้สึก

          มีข้อสังเกตว่าหนังสือ 100 รายชื่อนี้เป็นหนังสือที่มีวางจำหน่ายตามร้านหนังสือเพียงแค่ 14 เรื่องเท่านั้น (ข้อมูลจากการสำรวจ ณ เดือน พ.ย. 2556) ขณะที่อีก 86 เรื่องกลายเป็นหนังสือหายาก ไม่มีวางจำหน่าย ผู้ที่สนใจต้องติดต่อหาซื้อจากเว็บไซต์ร้านหนังสือมือสอง บ้างก็ต้องติดต่อโดยตรงกับสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์หนังสือเรื่องนั้นๆ หรือยืมจากห้องสมุดมหาวิทยาลัยบางแห่ง และมีหนังสืออย่างน้อย 3 เรื่องที่ไม่สามารถหาจากแหล่งสาธารณะใดๆ ได้แล้ว (ทำให้ไม่สามารถจัดทำบรรณนิทัศน์ของทั้ง 3 เล่มนี้ได้) ประเด็นการเข้าถึงหนังสือดีจึงยังเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ของวงการหนังสือและการอ่านของประเทศไทย และนี่อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นหลังเข้าใจประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 2516 สับสนปนเปกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จนเรียกสองเหตุการณ์นี้ผสมกันว่าเหตุการณ์ 16 ตุลา เพราะหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ดังกล่าวมีให้เลือกหาได้น้อยและเข้าถึงยาก

          การจัดพิมพ์หนังสือที่ไม่มีวางจำหน่ายแล้วขึ้นมาใหม่นั้น ย่อมเป็นผลดีต่อนักอ่านที่กระหายใฝ่รู้ในเรื่องราวทางสังคมและประวัติศาสตร์การเมืองที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของไทย แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า การจัดพิมพ์หนังสือดีสำหรับตลาดหนังสือเมืองไทยไม่ได้หมายความว่าผู้จัดพิมพ์สามารถจำหน่ายหนังสือนั้นได้จนคุ้มค่าต่อการลงทุน บรรดาหนังสือดีที่มีการจัดพิมพ์ออกมาในท้องตลาด บางครั้งก็เป็นผลผลิตมาจากความรักในตัวอักษรของผู้ผลิตหรือสำนักพิมพ์ แม้ว่าหนังสือดีจำนวนไม่น้อยอาจขายไม่ได้หรือใช้เวลานานกว่าจะจำหน่ายหมดก็ตาม

          ดังนั้น การจัดพิมพ์หนังสือ “ดี” ตามรายชื่อ 100 หนังสือดี 14 ตุลาที่ควรอ่าน
          จึงอาจไม่ใช่ภาระบทบาทของสำนักพิมพ์ที่มีใจรักหนังสือเท่านั้น แต่การผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนที่มีทุนเพียงพอเข้ามาสนับสนุนการจัดพิมพ์อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

รายชื่อ 100 หนังสือดี 14 ตุลาที่ควรอ่าน

1. 14 ตุลา วันประชาธิปไตย: บันทึกตำนาน 14 ตุลาคม 2516 ฉบับเยาวชน*51. บันทึกประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 2516
2. 14 ตุลาฉบับสามัญชน52. ใบไม้ที่หายไป*
3. 3 ทศวรรษ 14 ตุลา กับปัญหาประชาธิปไตยไทย53. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง: รวมบทความเกี่ยวกับกรณี 14 ตุลา และ 6 ตุลา
4. กลุ่มทุนนิยมผูกขาดในประเทศไทย54. ประวัติศาสตร์สตรีไทย
5. กวีการเมือง55. ปรัชญาชาวบ้าน
6. ก่อนไปสู่ภูเขา56. ปีศาจ
7. ก่อนจะถึง 14 ตุลา: บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับพัฒนาการและบทบาทของขบวนการนักศึกษา ยุคถนอม ประภาส57. ปูมประวัติศาสตร์มหิดลเพื่อประชาธิปไตย ภาค 1 ก่อเกิดขบวนการ
8. การศึกษาเพื่อมวลชน58. ปูมประวัติศาสตร์มหิดลเพื่อประชาธิปไตย ภาค 2 ประสานประชาชน อุทิศตนเพื่ออุดมการณ์
9. กูเป็นนิสิตนักศึกษา59. ปูมประวัติศาสตร์มหิดลเพื่อประชาธิปไตย ภาค 3 ฟื้นความหวัง สร้างกำลังใจ มุ่งรับใช้สังคม
10. แก้วหยดเดียว60. พ่อข้าฯ เพิ่งจะยิ้ม
11. ขบวนการกรรมกรในประเทศไทย61. พิราบแดง
12. ขบวนการนักศึกษาไทย: จาก 2475 – 14 ตุลาคม 251662. พิราบขาว บทเพลงเพื่อชีวิตเพื่อประชาชน
13. ขบวนการประชาชนตุลาคม 251663. เพียงความเคลื่อนไหว*
14. ข้อเขียนของโกมล คีมทอง64. ฟ้าทอง
15. ขอแรงหน่อยเถอะ65. ฟ้าบ่กั้น*
16. ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา66. ภาพศิลปะคัทเอาท์การเมืองเดือนตุลา
17. ขุนทอง เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง*67. มหาวิทยาลัยชีวิต
18. เขาชื่อกานต์68. รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย: รวม 3 เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย
19. คนกับควาย69. ร้อยกรองจากซับแดง
20. คนบนต้นไม้70. เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร
21. คลื่นแห่งทศวรรษ71. เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า
22. ความเงียบ72. เรื่องสั้นคัดสรรชุด 1
23. ความเป็นอนิจจังของสังคม*73. เล่าความจริง: ขบวนการนักศึกษารามคำแหงยุคต้น 2514-2519
24. ความใฝ่ฝันแสนงาม74. แลไปข้างหน้า
25. ความขัดแย้งทางการเมืองไทย ข้ามให้พ้นพลวัตภายใน75. วรรณกรรมในชีวิต ชีวิตในวรรณกรรม
26. ความรักของวัลยา76. แล้งเข็ญ: รวมเรื่องสั้นร่วมสมัยของไทย
27. คำขานรับ: รวมเรื่องสั้นร่วมสมัยของไทย77. และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ…การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาปัญญาชนก่อน 14 ตุลา*
28. คำประกาศของคนรุ่นใหม่78. โลกของหนูแหวน*
29. คำประกาศของความรู้สึกใหม่79. วรรณกรรมการเมืองไทย 14 ตุลา 2516 – 6 ตุลา 2519 รากเหง้า การก่อเกิด การเติบโตและพัฒนาการ
30. แคปิตะลิสม์80. วันมหาปิติ*
31. จงเป็นอาทิตย์เมื่ออุทัย81. วีรชนหาญกล้า รำลึกถึงวีรชน 14 ตุลาคม**
32. จงพิทักษ์เจตนารมย์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม82. ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน
33. จาก 14 ถึง 6 ตุลา83. ศิลปะวรรณคดีกับชีวิต
34. จารึกบนหนังเสือ: รวมบทร้อยกรองฟ้องยุคสมัย84. เศรษฐศาสตร์เพื่อมวลชน
35. ฉันจึงมาหาความหมาย85. สงครามชีวิต
36. โฉมหน้าศักดินาไทย*86. สมุดภาพเดือนตุลา
37. ชีวทัศน์เยาวชน**87. สมุดภาพแห่งความทรงจำ จารึกประวัติศาสตร์ 14 ตุลา ในวาระครบรอบ 36 ปี 14 ตุลา
38. ชีวิตกับความใฝ่ฝัน88. สร้างสานตำนานศิลป์ 20 ปีแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย 2517 – 2537
39. ด้วยรักแห่งอุดมการณ์89. ส่องไทย
40. ตำนานลิงยุคมืด**90. สันติประชาธรรม
41. ตำบลช่อมะกอก91. สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทย
42. ตื่นเถิดเสรีชนและงานคัดสรร92. หนุ่มสาวคือชีวิต
43. ไทยกึ่งเมืองขึ้น93. หนุ่มหน่ายคัมภีร์*
44. ถนนไปสู่ก้อนเมฆ*94. หมอเมืองพร้าว
45. นาฏกรรมบนลานกว้าง*95. หมายเหตุเดือนตุลา เล่ม 1
46. น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว96. หมายเหตุเดือนตุลา เล่ม 2
47. ในกระจก: วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน*97. หมายเหตุเดือนตุลา เล่ม 3
48. บทกวีคัดสรร ชุด 198. อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง
49. บทละครคัดสรร99. อาทิตย์ถึงจันทร์
50. บันทึก 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ: เรื่องบอกเล่าก่อนถึงวัน 14 ตุลา 16100. เอียงข้างประชาชน

* หนังสือที่ยังสามารถหาซื้อได้ตามร้าน (ข้อมูลจากการสำรวจ ณ เดือน พ.ย. 2556)

** หนังสือที่ไม่สามารถหาตัวเล่มได้จากแหล่งใดๆ

การเสวนา แนะนำ 100 หนังสือดี 14 ตุลาที่ควรอ่าน
ผู้ที่สนใจรายงานสรุปผลการดำเนินงาน บรรณนิทัศน์และกระบวนการคัดเลือกหนังสือ

ติดต่อได้ที่ วัฒนชัย วินิจจะกูล อีเมล: wwinich@gmail.com
และทัศนีย์ แซ่ลิ้ม อีเมล: aom_smallbrick@yahoo.com


เผยแพร่ครั้งแรก ตุลาคม 2560
เผยแพร่ซ้ำ ตุลาคม 2561

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก