101 บทเรียนสำหรับนวัตกร
ตอนที่ 13 เราจะกำจัดไอเดียเก่าๆ อย่างไร
นวัตกรรม คือ กระบวนการค้นหาทางออกแบบง่ายๆ ในการแก้ไขปัญหา หรือตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ทันทีที่รู้สึกว่าจำเป็นต้องใช้นวัตกรรม สิ่งแรกที่องค์กรมักจะทำคือการระดมสมอง ทั้งๆ ที่กระบวนการนี้ไม่อาจนำไปสู่ผลผลิตที่เป็นนวัตกรรมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้เข้าร่วมไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน และเมื่อการระดมสมองเกิดขึ้นระหว่างเพื่อนร่วมงานกลุ่มเดิมๆ มันเป็นเรื่องยากที่จะได้ไอเดียใหม่ สิ่งที่ควรจะทำก่อน คือ ‘กำจัดไอเดียเก่าๆ’ ออกไปเสีย
ผมชอบคำพูดของ ดี ฮอก (Dee Hock) นักธุรกิจอเมริกันคนหนึ่ง
“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ได้อย่างไร แต่อยู่ที่เราจะกำจัดความคิดเดิมๆ ออกไปอย่างไรเสียมากกว่า ห้วงความคิดของคนก็เหมือนอาคารที่เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์เก่าๆ ถ้าเราเก็บกวาดจัดระเบียบ ก็จะมีที่ว่างสำหรับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ”
เมื่อกำจัดความคิดเก่าไปแล้ว ความคิดใหม่จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิด กุญแจสำคัญในการเปลี่ยนวิธีคิดคือ ต้องยอมรับก่อนว่าความคิดเดิมนั้นล้าหลัง และเป็นปัจจัยที่ขัดขวางความก้าวหน้าของคุณ สิ่งนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นถ้าคุณยังนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะตัวเดิม คุณต้องออกไปสัมผัสโลกภายนอกบ้าง
นี่คือ 4 วิธี ในการกำจัดความคิดแบบเดิมๆ และเติมข้อมูลใหม่ๆ
1.สำรวจแนวโน้ม
ถ้าคุณได้สำรวจแนวโน้มโลกในด้านต่างๆ ด้วยตนเอง คุณจะรู้ว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และนั่นอาจเป็นแรงบันดาลใจให้คุณเปิดรับข้อมูลใหม่ ดังนั้น ลองเปิดใจศึกษาไอเดียและแผนธุรกิจใหม่ๆ ดูบ้าง
2.สำรวจเทคโนโลยี
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นแรงบันดาลใจที่ดี ลองค้นหาข้อมูลจากมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี สตาร์ตอัป ศูนย์วิจัยของรัฐ ศึกษาเทคโนโลยีของบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Google, Philips, Siemens และ Vodafone หรือผู้นำด้านการตลาดอย่าง Samsung, 3M, IBM, Ericsson, และ Capgemini ไม่นานคุณก็จะรู้ว่าวิธีการที่คุณใช้อยู่ตกยุคไปแล้ว
3.สำรวจโอกาส
แสวงหาโอกาสในการสร้างนวัตกรรมในองค์กร ออกไปพบกับผู้คนที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้ สิ่งหนึ่งจะพาคุณไปพบเจอกับอีกสิ่งหนึ่ง เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้วเส้นทางของคุณก็จะค่อยๆ หักเหออกจากเส้นทางเดิมๆ ไปในที่สุด
4.สำรวจอุปสรรคของลูกค้า
พบปะลูกค้าแบบตัวต่อตัวและศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น ปัญหาเหล่านั้นเป็นแรงขับเคลื่อนที่จะนำไปสู่การกำจัดวิธีคิดแบบเดิมๆ เสียงสะท้อนจากลูกค้ากลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการ ความคาดหวัง ความปรารถนาที่ยังไม่ถูกเติมเต็ม อาจเป็นเรื่องที่พบบ่อยในการใช้ชีวิตหรือในการทำงาน คุณต้องคุยกับลูกค้ากลุ่มนี้และตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ อยู่เสมอ
จงจำไว้ว่า…
“คนที่ตั้งคำถามอาจจะดูเป็นคนโง่เขลาในเวลาแค่ไม่กี่นาที แต่คนที่ไม่ตั้งคำถามเลยอาจจะเป็นคนโง่ไปตลอดชีวิต” – ขงจื่อ
ท้ายที่สุดแล้ว คุณจำเป็นต้องมีข้อมูลใหม่ๆ เพื่อปลุกปั้นไอเดียใหม่ๆ
ที่มา
หนังสือ Inspiration for Innovation: 101 Lessons for Innovators เขียนโดย Gijs van Wulfen