‘ขอให้เด็กในสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า’
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2502 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
หลังการรัฐประหาร วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 ที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้การเมืองการปกครองของไทย เข้าสู่รูปแบบเผด็จการอำนาจนิยม1 มีความพยายามพัฒนาประเทศให้ทันสมัย เปลี่ยนแปลงระบบการบริหารบ้านเมืองในหลายๆ ด้าน ซึ่งมิใช่เพียงการพัฒนาเพื่อให้เห็นผลในปัจจุบันกาลนั้น แต่เป็นการริเริ่มและพัฒนาในระยะยาวที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ
โดยเล็งเห็นว่าความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองประเทศ เพราะการศึกษาและภาวะเศรษฐกิจจำเป็นต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าการศึกษาดี เศรษฐกิจของชาติก็จะดีด้วย มีการประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503 ทำให้เกิดการขยายการศึกษาภาคบังคับออกไปจากเดิม 4 ปี เป็น 7 ปี และรัฐไทยสามารถเข้ามาควบคุมดูแลการจัดการหลักสูตรทั้งหมด จึงสามารถหล่อหลอมทัศนคติและความเชื่อของผู้คนผ่านการศึกษาในระบบ
แบบเรียนวิชาภาษาไทย ชุดนิทานร้อยบรรทัด
นิทานร้อยบรรทัดเป็นหนังสือฝึกอ่านที่กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้หลวงสำเร็จวรรณกิจ (บุญ เสขะนันท์) เรียบเรียงขึ้นเมื่อ พ.ศ.25012 เพื่อให้เป็นหนังสือแบบสอนอ่านวิชาภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นประถม และเลิกใช้ไปในช่วง พ.ศ.2526
โดยเนื้อหาแต่ละเรื่องเขียนด้วยกลอนสุภาพรวม 25 บท วางรูปแบบเป็นบรรทัดละวรรค ทุกเรื่องมีความยาว 100 บรรทัด จึงเป็นที่มาของชื่อ นิทานร้อยบรรทัด มีจุดประสงค์ให้นักเรียนชั้นประถมได้ฝึกอ่านหนังสือให้คล่องแคล่ว มีการใช้ภาษาที่ร้อยเรียงด้วยคำศัพท์ที่นักเรียนวัยนี้ควรทราบ มาแต่งเป็นเรื่องเล่าที่คล้องจอง เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและอ่านสนุก มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตของคนไทย ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ มีบทพรรณนาฉาก สถานที่และอารมณ์ตัวละคร รวมไปถึงการออกแบบเรื่องราวเหนือจริง เช่น ให้มีสัตว์พูดได้ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายและรู้สึกร่วมกับเรื่องราว เกิดความรู้สึกสนุกสนาน นิทานมีเนื้อหาสั้นๆ และไม่ซับซ้อน แต่จะสอดแทรกแนวคิด และคติในการดำเนินชีวิต รวมถึงค่านิยมและหน้าที่ของพลเมืองดีในยุคสมัยนั้น
หนังสือแบบเรียน ชุด นิทานร้อยบรรทัด มีทั้งหมด 6 เล่ม สำหรับนักเรียนชั้นประถมปีที่ 2 – ประถมปีที่ 7 ให้ฝึกอ่านชั้นละ 1 เล่ม มีชื่อเรื่องคล้องจองกันว่า บ้านที่น่าอยู่ (ตอนที่ 1-2) ครูที่น่ารัก ประเทศเล็กที่สมบูรณ์ ตระกูลไทยที่คงไทย ประชาธิปไตยที่ถาวร
รู้รักหน้าที่ เด็กดีในอุดมคติ
คุณสมบัติของเด็กและเยาวชนที่จะเติบใหญ่ไปเป็นพลเมืองไทยสมบูรณ์ที่สอดแทรกอยู่ในแบบเรียน นิทานร้อยบรรทัด มีแนวคิดให้นักเรียนต้องรักและรู้จักหน้าที่ของตนตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น
- ‘รัก’และเมตตา เอื้อเฟื้อทั้งต่อสรรพสัตว์ และต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทุกคนต้องมีความรักต่อกัน แม้ว่าจะต่างเผ่าพันธุ์ ต่างชาติ ต่างภาษา ก็ควรรักใคร่ปรองดอง มีจิตให้อภัยกัน และให้นิยามของเด็กตัวอย่าง ที่เรียกว่า ‘เด็กสากล’ ซึ่งก็คือ เด็กที่เชื่อฟังพ่อแม่ ขยันเรียน มีจิตเมตตา รวมไปถึงต้องรักและเคารพต่อบุพการี และครูบาอาจารย์
“เด็กว่าเขากับพี่นี้แหละเจ้า ผู้ใหญ่เฝ้าสนใจใฝ่แลเหลียว บำรุงเลี้ยงฟูมฟักนักทีเดียว ให้เล่าเรียนเพื่อให้เชี่ยวชาญวิชา สอนให้เลี้ยงแมวหมาเมตตานก อะไรชั่วสกปรกไม่ปรารถนา…”
(หลวงสำเร็จวรรณกิจ, 2518. บ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ 1, หน้า 23)
“มีเด็กเจ๊กเด็กแขกแปลกแปลกชาติ ล้วนรักกันราวกับญาติไมตรีเพ่ง การชิงชังเป็นความชั่วต่างกลัวเกรง ยึดถือเพลงปลูกรักปักจิตใจ”
(หลวงสำเร็จวรรณกิจ, 2518. บ้านที่น่าอยู่ตอนที่ 1, หน้า 24)
- ‘รัก’ในการศึกษา ใฝ่รู้ และรักษาระเบียบวินัย รักษากายใจให้สะอาด เด็กที่ดีคือต้องขยันหมั่นเพียร ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ไม่เกียจคร้าน ตื่นแต่เช้าและมาโรงเรียนด้วยความสดชื่น และหมั่นรักษาอารมณ์ให้สดใสเบิกบาน มีไมตรีต่อกัน รวมไปถึงต้องรักษาระเบียบวินัย รักษากายใจให้สะอาด เพราะจะทำให้การเรียนและการประกอบกิจการใดๆ สำเร็จได้ด้วยดี
ในตลอดยอดพลัง เหมือนวางขลังไว้ในตนพ้นภัยพาล เข้าที่ไหนใครสมัครรักเป็นมิตร เหมือนมีมนตร์ผูกจิตจูงสมาน จะกอปรกิจใดใด ก็ได้การ เพราะงามใจงามงานอันเดียวกัน”
(หลวงสำเร็จวรรณกิจ, 2518. ครูที่รักเด็ก, หน้า 29)
- ‘รัก’ชาติ ศาสนา พระมหาษัตริย์ ปลูกฝังให้เด็กมีความรักและภูมิใจในประเทศของตน อันมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร มีทรัพย์ในดินสินในน้ำ ทำไร่นาได้ผลดี
อีกทั้งให้หมั่นทำบุญ เคารพพระพุทธศาสนา โดยให้นิยามว่า ถ้าอยากร่ำรวย ประสบความสำเร็จ ก็ให้ทำบุญทำทาน รวมไปถึงการพูดถึงรูปลักษณ์ที่น่ามองว่าเกิดจากการทำบุญกุศลแต่หนหลัง การมีรูปลักษณ์ที่ไม่น่ามองนั้นน่ากลัวกว่าความยากลำบากอื่นใดในชีวิต ซึ่งสะท้อนการนำความเชื่อเกี่ยวกับพุทธศาสนา และการให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ที่อยู่คู่สังคมไทยแต่โบราณมาแทรกไว้ในแบบเรียน
“เมื่อแม่ยังรุ่นรุ่นคุณยายสอน ว่าทำบุญสร้างอาภรณ์ไว้ภพหน้า อยากรวยทรัพย์รูปสวยรวยปัญญา ต้องได้สมปรารถนา อย่าปรารมภ์ ใครทำบาปอกุศลกรรมนำวิบาก ต้องตกทุกข์ได้ยากอย่างสาสม รูปก็ชั่วตัวก็ดำสิ้นขำคม อันเป็นปมด้อยด่างอย่างสำคัญ อันรูปชั่วกลัวนักหนากว่าทุกข์ยาก เพราะลำบากเท่าไรไม่นึกพรั่น เราอุตสาห์กล้าผจญพอสู้กัน แต่อัปลักษณ์สุดปั้นให้แปรดี”
(หลวงสำเร็จวรรณกิจ, 2518. ตระกูลไทยที่คงไทย, หน้า 14-16)
และควรมีความเคารพรักในสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยพระองค์ทรงเสียสละพระวรกาย และดำรงไว้ซึ่งประเทศชาติด้วยพระบารมี
“ไทยเจริญรุ่งเรืองสมเมืองทอง รวมพวกพ้องตั้งเป็นชาติสามารถขัน แข่งกับใครที่จู่โจมมาโรมรัน ไทยยึดมั่นสุขศานติ์ไม่รานใคร กรณียกิจดั่งว่าถ้าประมวล ก็แล้วล้วนงานใหญ่ไม่สงสัย พระวรกายแม้แบบบางอย่างอไภยฯ แต่ดวงหทัยนั้นเหล็กแท่งแข็งไม่ปาน ทรงรอนแรมอ้างว้างกลางอากาศ ประชาราษฎร์ผะผ่าวฟังข่าวสาร ประกาศถ้วนมงคลล้ำทรงสำราญ ต่างชื่นบานบนบวงด้วยห่วงใย มหาอำนาจทุกประเทศประเวศทั่ว อำนาจน้อยแต่ก็กลั้วกับเขาได้ เพราะปราชญ์เปรื่องเรืองปัญญาอาชาไนย ทุกชาติใหญ่ถ่อมตัวด้วยกลัวบุญ อันสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระฉวีผุดผาดโอภาสหนุน เหมือนแสงโสมส่องนภาคราอรุณ ช่วยเจือจุนรัศมีด้วยศรีเพ็ญ…”
(หลวงสำเร็จวรรณกิจ, 2518. ประชาธิปไตยที่ถวาร, หน้า 16-17)
จะเห็นได้ว่าเนื้อหาในแบบเรียนนั้นมุ่งสอดแทรกแนวคิดให้เด็กและเยาวชนได้ซึมซับไปพร้อมกับการเรียนรู้หลักภาษาไทยที่ถูกต้อง มีความรักในหลากหลายประเด็นที่ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ทางสังคม เป็นความรับผิดชอบ และควรปฏิบัติตามความมุ่งหวังของสังคม
รักในหน้าที่ พลเมืองดีของชาติ
ในแบบเรียนนิทานร้อยบรรทัดยังเน้นย้ำถึงแนวคิดของความรักและสำนึกในหน้าที่ของตนที่ได้ถูกกำหนดไว้ เพื่อสังคมและประเทศที่มีความสงบสุขในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เด็กมีหน้าที่เรียนหนังสือ พ่อแม่ และครูมีหน้าที่สั่งสอนให้เด็กเติบใหญ่เป็นพลเมืองที่ดี มีหน้าที่ทำงานตามความเหมาะสม ทุกงานล้วนมีความสำคัญ ไม่ก้าวก่ายงานซึ่งกันและกัน
“เพราะทุกฝ่ายหยิบยกเป็นข้อใหญ่ ว่ารู้จักหน้าที่มีจิตใจ รักประชาธิปไตยนั่นสำคัญ ทุกทุกคนไม่ต้องให้ใครบังคับ ด้วยหน้าที่คอยกำกับเป็นคำขวัญ รักเป็นใหญ่ต้องเอออวยช่วยเหลือกัน ใครถนัดอะไรปันแบ่งกันทำ ตัวจักรใหญ่ได้งานเพราะตัวย่อย ทำหน้าที่ตามมากน้อยไม่ถลำ ให้ผิดพลาดเสียการงานประจำ นั่นแหละกรรมวิธีที่ถาวร”
(หลวงสำเร็จวรรณกิจ, 2518. ประชาธิปไตยที่ถวาร, หน้า 6)
อีกทั้งมีการเปรียบเปรยให้ ‘ชาติ’ เสมือนครอบครัวขนาดใหญ่ ต้องใช้ผู้นำที่มีความเป็นธรรมและมีอำนาจเด็ดขาดเข้ามาบริหารประเทศ และให้ความหมายว่า ‘ประชาธิปไตย’ คือการที่ผู้มีอำนาจเป็นผู้ให้ และทำหน้าที่ปกครองดูแลจรรโลงไว้ซึ่งระบบประชาธิปไตย หากเปรียบเทียบประชาธิปไตยภายในบ้าน ก็คือมีพ่อแม่เป็นผู้ควบคุม เพื่อรักษาระเบียบภายในบ้าน ดังความที่ว่า
“นกถามว่าประชาธิปไตย คือคุณแม่เป็นผู้ให้ใช่ไหมจ๋า เด็กว่าถูกแล้วคุณแม่แผ่เมตตา ให้ประชาธิปไตยในบ้านเรา…
…จะต้องทำแต่ความดีทุกถ้วนหน้า งานหน้าที่ใส่ใจไว้อัตรา เพื่อรักษาระเบียบบ้านฐานผู้น้อย ไม่ก้าวก่ายงานการที่ท่านมอบ รักแต่ชอบผิดชังคอยยั้งถอย”
(หลวงสำเร็จวรรณกิจ, 2518. บ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ 2, หน้า 22-23)
ส่วนประชาธิปไตยในระดับประเทศ แบบเรียนได้สอดแทรกเรื่องพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ ผู้จรรโลงไว้ซึ่งระบบประชาธิปไตยในสังคม และการรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตย คือการพึงพอใจในหน้าที่ของตน ไม่เรียกร้องเอาสิทธินอกเหนือจากที่ตนพึงมี เพราะจะเป็นการสร้างความวุ่นวายและเป็นการทำลายระบอบอันดีงาม
“เป็นไทยแท้แน่นิยมพระร่มโพธิ์ เพื่อภิญโญพระยศยิ่งเป็นมิ่งเมือง…โอ้พระร่มโพธิ์ทองของทวยราษฎร์ ทรงมุ่งมาดปลุกใจให้เข้มแข็ง สมเป็นเจ้าแผ่นดินสิ้นระแวง รักตำแหน่งหน้าที่ดีสุดใจ ทรงสละพระสำราญเพื่อบ้านเมือง เพื่อรุ่งเรืองเทียมหน้าเทียมบ่าไหล่ เขาชาวโลกที่มั่งคั่งทั้งใกล้ไกล เพื่อประชาธิปไตยอันถาวร”
(หลวงสำเร็จวรรณกิจ, 2518. ประชาธิปไตยที่ถวาร, หน้า 15-16)
“แต่แข่งกันให้ได้งานใช่ขัดขวาง อย่างที่ว่าขัดแข้งขาข้อระคาง เกิดบาดหมางมุ่งทำลายใส่ร้ายกัน เกิดว้าวุ่น แข่งบุญวาสนา เพราะถือสิทธิ์บ้าบ้าอย่างน่าขัน เป็นหิ่งห้อยเผยอแข่งแสงตะวัน อธิปไตยที่ใฝ่ฝันไม่บรรลุ ธรรมนูญวางกระบวนล้วนดีเลิศ ผลที่เกิดไม่เหมือนหวังดั่งระบุ เพราะความรู้เราทั่วไปไม่ยังไม่ลุ มาตรฐานเลยเหมือนยุให้ลืมตัว เมื่อยื่นดาบให้คนเขลาเอาไปใช้ พอย่ามใจฟันไม่ละโมหะกลั้ว หลงสิทธิเสรีหมดที่กลัว ยิ่งเหนี่ยวรั้งยิ่งยั่วไม่ยอมโง เมื่อประชาธิปไตยใช้ผิดที่ เหมือนปิดช่องคนดีมิให้โผล่ ด้วยพวกเขลามากกว่าพาเฮโล ลากประเทศพุทโธ่ สู่อบาย”
(หลวงสำเร็จวรรณกิจ, 2518. ประชาธิปไตยที่ถวาร, หน้า 31)
แบบเรียนเพื่อสร้างสังคมแห่งความรักแบบฉบับ ‘รัฐรวมศูนย์’
ความรักที่สอดแทรกอยู่ในแบบเรียนนิทานร้อยบรรทัด จึงเป็นการสร้างนิยามของความรัก ตั้งแต่ในระดับครอบครัวไปจนถึงระดับชาติ โดยไม่ใช่เรื่องของความรักที่เป็นอารมณ์โรแมนติก หรือความรู้สึกที่เป็นนามธรรมเฉพาะปัจเจกบุคคล แต่คือความรักแห่งชาติที่เป็นเรื่องของส่วนรวมผ่านการปฏิบัติตาม “หน้าที่” โดยมี “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เป็นศูนย์กลาง
และการแสดงออกซึ่งความรักเพื่อการเป็นเด็กดีและพลเมืองดี คือการรู้รักษาหน้าที่ของตนเอง รู้รับผิดชอบ และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคม ไม่ประพฤติปฏิบัติตัวแปลกแยกไปจากที่กรอบแนวคิดที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อดำรงไว้ซึ่งสังคมและประเทศที่สงบสุขรุ่งเรือง
ดังนั้นการกำหนดให้เด็กๆ ในประเทศต้องเข้ารับการศึกษาในระบบของรัฐภายใต้การศึกษา ในแง่หนึ่งคือการสร้างคนให้มีการศึกษา เพื่อนำความรู้นั้นมาใช้พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป แต่อีกนัยยะหนึ่งคือการใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือกล่อมเกลาแนวคิด และสร้างทัศนคติให้กับพลเมืองตามที่ผู้มีอำนาจทางสังคมในบริบทของช่วงเวลานั้นต้องการ
นำมาซึ่งการตั้งคำถาม ต่อหลักสูตรการเรียนการสอนและแนวคิดที่สอดแทรกไว้โดยมีที่มาจากความต้องการของผู้มีอำนาจเพียงอย่างเดียว จะเพียงพอและสามารถตอบสนองต่อความต้องการรวมถึงวิวัฒนาการที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของโลกได้หรือไม่ หรือแท้จริงแล้วเราควรให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในในการกำหนดทิศทางเพื่อการเรียนรู้ในการรับมือกับอนาคตของพวกเขาเหล่านั้นด้วยตนเอง
สำหรับผู้สนใจเรื่องราวและแนวคิดการเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ หรือต้องการข้อมูลเกี่ยวแบบเรียนในยุคสมัยนั้น ตลอดจนค้นหางานร้อยกรองไปใช้ในการฝึกอ่านภาษาไทย สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ ‘ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน’ ซึ่ง TK Park จัดทำขึ้น พบกับอีบุ๊ค นิทานร้อยบรรทัด จำนวน 6 เล่ม ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2518 พร้อมทั้งคำอธิบายขยายรายละเอียดต่างๆ เพื่อความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น
เชิงอรรถ
[1] มีการยกเลิกพรรคการเมืองและรัฐสภา ไม่มีผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่มีกลไกควบคุมรัฐบาล นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตราที่ 17 ของธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 สามารถใช้อำนาจทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการเองได้
[2] บางแหล่งข้อมูลระบุว่า หนังสือดังกล่าวแต่งขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีแนวคิดสะท้อนอุดมการณ์สร้างชาติ การให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรม และนำมาปรับปรุงเนื้อหาและแต่งเพิ่มเติมบางส่วน
ที่มา
หลวงสำเร็จวรรณกิจ. นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 1-6 (2518).
ลักขณา ปันวิชัย. อุดมการณ์ของรัฐไทยในแบบเรียนชั้นประถมศึกษา พ.ศ.2464-2533; ไม่มี “ชาติของประชาชน” ในแบบเรียน. วารสาร รัฐศาสตร์สาร. (2542).
นฤมล นิ่มนวล, ประจักษ์ ก้องกีรติ, อรรถสิทธิ์ พานแก้ว. การเมืองในแบบเรียน (เอกสารประกอบการประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยบัณฑิตศึกษา ระดับชาติและนานาชาติ วันที่ 10 มีนาคม 2560 ณ อาคารพจน์ สารสิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น) (2560).
ปวีณา วังมี. รัฐไทยกับการกล่อมเกลาทางการเมืองผ่านแบบเรียนในช่วง พ.ศ. 2475-2487. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2543).