10 หนังสือแนะนำเพื่อทำความรู้จัก ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

5,453 views
9 mins
March 9, 2021

         ย้อนกลับไปเมื่อ 9 มีนาคม 2559 คือวันครบรอบ 100 ปีวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกขบวนการเสรีไทย อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ ปี 2508 และเป็นอะไรอีกมากมายที่ผู้คนกล่าวขานว่าเป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต มีความกล้าหาญทางจริยธรรม แต่กลับต้องจากแผ่นดินไทยไปตายยังต่างแดน

          ในปีนั้น ลูกศิษย์และคนรู้จักทั้งรุ่นเก่าและใหม่จึงพร้อมใจกันจัดงานรำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธาน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และองค์การยูเนสโกยังประกาศยกย่องให้ป๋วยเป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องในวาระฉลองครบรอบ 100 ปีชาตกาลด้วย

          จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ลูกชายคนโตของป๋วย ผู้ซึ่งได้รับรางวัลแมกไซไซ พ.ศ. 2548 เจริญรอยตามผู้เป็นพ่อที่ได้รับรางวัลเดียวกันนี้เมื่อปี 2508 เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เขาไม่ชอบเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ให้พ่อ (ขณะนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์ป๋วยไว้ที่ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต) เพราะเป็นการรำลึกถึงคนตายแบบที่ตายไปแล้ว แต่อยากให้อ่านผลงานและความคิดของป๋วย อึ๊งภากรณ์ อ่านแล้วไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย อ่านแล้วอยากให้วิพากษ์วิจารณ์

“ผมคิดว่าคุณพ่อวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่วิพากษ์หนังสือ ความคิด หรือการทำงานของพ่อ จะทำให้คุณพ่อมีชีวิตอยู่อย่างยั่งยืน ทำให้พ่อถูกมองเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่น่าสนใจ อาจเลวบ้าง มีข้อดีข้ออ่อน เป็นความจริงของมนุษย์”

         ป๋วยคือใคร? สำคัญอย่างไร? ทำไมต้องรู้จัก?

         ปีนี้ เนื่องในวาระ 105 ปีชาตกาลของลูกจีนสามัญชนผู้สร้างผลงานและความคิดที่ส่งอิทธิพลเป็นแรงบันดาลใจอย่างมหาศาลให้แก่คนรุ่นหลัง จึงขอเชิญชวนผู้อ่านทำความรู้จักป๋วย ผ่านหนังสือและข้อเขียน ดังเช่นที่จอน อึ๊งภากรณ์ เคยเอ่ยปากไว้ โดยคัดเลือกหนังสือที่จัดทำเป็นอีบุ๊ค 10 เล่ม…

          ไม่ว่าจะอ่านจนครบทุกเล่มหรือไม่ แต่เมื่ออ่านจบแต่ละบทแต่ละเล่ม ขอให้ลองถามแล้วตอบตัวเองว่า… ป๋วยคือใคร? สำคัญอย่างไร? ทำไมต้องรู้จัก?


1. ป๋วย อึ๊งภากรณ์: ชีวิต งาน และความหลัง

          จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสที่ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีอายุครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2529 รวบรวมข้อเขียนเกี่ยวกับ ดร.ป๋วย ทั้งที่ ดร.ป๋วยเขียนเอง และที่เขียนโดยคนอื่นไว้ด้วยกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ภาคคือ ภาคที่ 1 ป๋วย อึ๊งภากรณ์: ชีวิต งาน และความคิด ภาคที่ 2 ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฟื้นความหลัง และภาคที่ 3 ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับสงครามโลกครั้งที่สอง: บันทึกที่เพิ่งเปิดเผย และภาคผนวก บรรณานุกรมงานของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในเล่มนี้มีบทความที่น่าสนใจ เช่น  บันทึกเรื่องชื่อ “ป๋วย”  เหลียวหลัง แลหน้า บันทึกที่เพิ่งเปิดเผยของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์: เกียรติประวัติ 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์: ชีวิต งาน และความหลัง

2. สันติประชาธรรม 

         กล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ ของดร.ป๋วย เช่น ประสบการณ์ทางการเมือง การศึกษา นอกจากนี้ยังมีคำไว้อาลัย คำสดุดีบุคคลที่เสียชีวิตซึ่งเป็นผู้ที่ท่านรู้จัก บทความที่น่าสนใจ เช่น แตกเนื้อหนุ่ม 2475 ฟังไม่ได้ศัพท์ จับเอามากระเดียด เรียนเพื่อสอบ หรือสอบเพื่อเรียน หรือเรียนเพื่อเรียน จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง เรียนนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ 

สันติประชาธรรม

3. เศรษฐทรรศน์ : รวมข้อคิดและข้อเขียนทางเศรษฐศาสตร์ของป๋วย อึ๊งภากรณ์ 

          เนื้อหาแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกเป็นทฤษฎีและแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งครอบคลุมเรื่องวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ แนวคิดของนักปรัชญาและนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญๆ ส่วนที่สอง แนวความคิดของดร.ป๋วยในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม บทบาทของนักการเมืองกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

เศรษฐทรรศน์ : รวมข้อคิดและข้อเขียนทางเศรษฐศาสตร์ของป๋วย อึ๊งภากรณ์

4. ศาสนธรรมกับการพัฒนา 

         รวมบทความและคำบรรยายในโอกาสต่างๆ ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มีเนื้อความเกี่ยวข้องกับแนวความคิดในด้านศีลธรรม จริยธรรม และศาสนา ต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ข้อเขียนสำคัญในหนังสือเล่มนี้ คือ ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เป็นงานเขียนอันเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง สะท้อนแนวคิดแบบรัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ป๋วยให้ความสนใจและพยายามสื่อสารผลักดันให้ผู้คนเข้าใจ ข้อเขียนชิ้นนี้ยังปรากฏอยู่ในหนังสืออีกหลายเล่ม

ศาสนธรรมกับการพัฒนา

5. การศึกษาในทรรศนะของข้าพเจ้า  

          รวบรวมบทความ คำบรรยาย ปาฐกถา สุนทรพจน์ และการสนทนาเกี่ยวกับทรรศนะของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในด้านการศึกษาของประเทศไทย ข้อเขียนที่น่าสนใจ เช่น การศึกษา ห้องสมุดในทรรศนะข้าพเจ้า

การศึกษาในทรรศนะของข้าพเจ้า

6. เสียชีพอย่าเสียสิ้น  

          เนื้อหาแบ่งออกเป็น 4 ตอน ประกอบด้วยบทความและบทสัมภาษณ์ที่หลากหลาย เช่น ทางออกของไทยหลังสงครามอินโดจีน การบริหารมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกับสังคมไทย จุดมุ่งหมายในการพัฒนาชนบท เศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต นโยบายการเงินการคลังในภาวะฝืดเคือง การถามตอบปัญหาในคอลัมน์ไขปัญหาโดยศุขเล็ก จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ บทความที่น่าสนใจ ได้แก่ เสียชีพอย่าเสียสิ้นกล่าวสดุดีความกล้าหาญและความเสียสละของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 พร้อมกับเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ดร.ป๋วย พูด ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับความคิดและความตั้งใจของท่านในการทำงานเพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ โดยเฉพาะงานที่ท่านสนใจมากคืองานพัฒนาชนบท

เสียชีพอย่าเสียสิ้น

7. อันเนื่องมาแต่ 6 ตุลาคม 2519   

          หนังสือที่รวบรวมข้อเขียน บทความ บันทึกการสัมมนา ปาฐกถา และบทสัมภาษณ์ของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในต่างประเทศ หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารของไทยเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่น่าสนใจเช่น ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 กล่าวถึงเหตุการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ความทารุณโหดร้ายของรัฐประหาร ตลอดจนเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น อันเป็นสาเหตุของการเกิดรัฐประหาร ประวัตินายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นเอกสารประกอบในการพิจารณามอบรางวัลแม็กไซไซ เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) ณ กรุงมะนิลา

อันเนื่องมาแต่ 6 ตุลาคม 2519

8. แนวทางสันติวิธี ทางเลือกของคนไทยหลัง 6 ตุลาคม   

          หนังสือที่รวบรวมบทความและข้อเขียนอันเป็นผลงานของ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในด้านแนวความคิด ชีวประวัติ และประสบการณ์ต่างๆ ของท่าน บทความเด่นคือแนวทางสันติวิธี ส่วนเรื่องอื่นๆ ได้แก่ ดร.ป๋วยกับหนังสือพิมพ์ เป็นคำปราศรัยต่อสื่อมวลชน และอาจารย์ ข้าราชการ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คำพิพากษาของศาลเรื่องการหมิ่นประมาท ดร.ป๋วย ของนายประหยัด ศ.นาคะนาท รวมทั้งยังมีงานเขียนของป๋วยหลายชิ้นที่เคยปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มอื่นซึ่งนำมารวบรวมไว้อยู่ในเล่มนี้ด้วย เช่น เหลียวหลัง แลหน้า   ผู้หญิงในชีวิตของผม-แม่

แนวทางสันติวิธี ทางเลือกของคนไทยหลัง 6 ตุลาคม

9. ผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน: นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ข้าพเจ้ารู้จัก   

          เป็นข้อเขียนของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ บอกเล่าเรื่อง ดร.ป๋วย ตั้งแต่ชีวประวัติ การศึกษา การทำงาน คุณลักษณะอันดีงาม การเป็นบุคคลสำคัญในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความชอบธรรมในสังคมให้กับประชาชนชาวไทย ตลอดจนเหตุการณ์ทางการเมืองซึ่งมีผลต่อ ดร.ป๋วย ในทุกช่วงสมัยการทำงาน

ผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน: นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ข้าพเจ้ารู้จัก

10. สารคดีฉบับพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์  

          วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ทำหน้าที่บรรณาธิการ แบ่งเนื้อหาเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกกล่าวถึงชีวประวัติส่วนตัวของ ดร.ป๋วย พร้อมทั้งประวัติการศึกษาและการทำงาน และกิจวัตรประจำวันในขณะที่ท่านพำนักอยู่ที่บ้านพักชานกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ส่วนหลังเป็นบทสัมภาษณ์แสดงทัศนะนานาประการจากบุคคลที่เคยร่วมทำงานและคลุกคลีกับท่านอย่างใกล้ชิด อาทิ นุกูล ประจวบเหมาะ มาสเตอร์บันทูน จูพงษ์เศรษฐ์ ทศ พันธุมเสน คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี

สารคดีฉบับพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์

           อนึ่ง หนังสือที่แนะนำทั้ง 10 เล่มจัดเป็นเป็นหนังสือเก่า เกือบทุกเล่มไม่มีการพิมพ์ซ้ำและจำหน่ายแล้ว แต่บทความต่างๆ ในบางเล่มยังคงถูกนำมารวบรวมจัดกลุ่มและพิมพ์ใหม่ในชื่อหนังสืออื่น อย่างไรก็ดี หนังสือเกี่ยวกับป๋วยที่เขียนขึ้นใหม่และสามารถซื้อหาได้ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ “อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : แนวคิดทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง การวางรากฐานการพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เขียนโดย เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม “ป๋วยกับสังคมไทยในวิกฤตเปลี่ยนผ่าน” รวมบทความจากนักวิชาการรุ่นใหม่หลากสาขา บรรณาธิการโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ และปกป้อง จันวิทย์

อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : แนวคิดทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง การวางรากฐานการพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ป๋วยกับสังคมไทยในวิกฤตเปลี่ยนผ่าน

          เว็บไซต์รวบรวมบทความและงานเขียนทั้งที่ป๋วยเขียนเองและที่คนอื่นเขียนถึง ก็มีจำนวนไม่น้อย เว็บไซต์ซึ่งทำข้อมูลได้ดีและทันสมัย เป็นศูนย์รวมสื่อที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ค่อนข้างครอบคลุมครบถ้วน ได้แก่ http://puey-ungpakorn.org


ที่มา

ปรับปรุงจากบทความเรื่องเดียวกันนี้ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ทีเคพาร์คเมื่อเดือนมีนาคม 2559
Photo: Website http://puey-ungpakorn.org/


เผยแพร่ครั้งแรก มีนาคม 2559

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก