101 บทเรียนสำหรับนวัตกร
ตอนที่ 02 ความจำเป็นนำทาง ‘เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน’ สู่เส้นทางสายตะวันตก
การเดินทางของ ‘นวัตกร’ ก็ไม่ต่างจาก ‘นักสำรวจ’ ที่ออกเดินเรือค้นหา ‘ดินแดนใหม่’ ซึ่งเต็มไปด้วยทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ วาดฝันว่าจะได้รับความมั่งคั่งจากการค้าขาย
ลองมาฟังเรื่องราวของนักสำรวจยุคบุกเบิก แล้ววิเคราะห์ว่า อะไรคือปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้น สำหรับบทเรียนนี้ ขอนำเสนอเรื่องราวของ เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน นักเดินเรือชาวโปรตุเกสผู้ค้นพบช่องแคบมาเจลลัน และมหาสมุทรแปซิฟิก
เมื่อชาวสเปนซึ่งแข่งขันกับโปรตุเกสค้นหาดินแดนใหม่อย่างดุเดือดรู้แล้วว่า ทวีปอเมริกาที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสค้นพบ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของทวีปเอเชียอย่างที่คิด และเส้นทางสายตะวันออกสู่ ‘หมู่เกาะเครื่องเทศ’ ในทวีปเอเชียที่ต้องเดินทางอ้อมทวีปแอฟริกานั้น ก็เป็นเส้นทางที่เป็นสิทธิของโปรตุเกสโดยชอบธรรม จากการลงนามในกฎบัตรตอร์เดซิยัส โดยสมเด็จพระสันตะปาปา
ด้วยความปรารถนาจะค้นพบเส้นทางสู่เอเชียเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางธุรกิจ ชาวสเปนจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเดินทางบุกตะลุยไปทางทิศตะวันตกเพื่อค้นหาเส้นทางเดินเรือใหม่ไปยังหมู่เกาะเครื่องเทศโดยไม่ละเมิดสิทธิของโปรตุเกส
ขบวนเรือของกัปตันมาเจลลันและฟาเลโร เดินทางออกจากท่าเรือของสเปน ในวันที่ 20 กันยายน 1519 และพบกับอุปสรรคมากมาย หลังจากเรือลำหนึ่งพลิกคว่ำไป ขบวนเรือที่เหลือก็ออกเดินทางต่อจนถึงแหลมเวอร์จีนส์ ที่เส้นละติจูดที่ 52º ในวันที่ 21 ตุลาคม พวกเขาเชื่อว่าได้ค้นพบเส้นทางสู่หมู่เกาะเครื่องเทศผ่านปากแม่น้ำลัดเลาะเข้าไปในแผ่นดิน
หลังจากนั้น เรืออีกลำหนึ่งก็ก่อความวุ่นวายและแล่นหนีกลับสเปนเสียก่อน เรือลำที่เหลืออยู่ต้องเดินทางผ่านช่องแคบเป็นระยะทางกว่า 600 กิโลเมตร ด้วยความยากลำบาก ต่อมาช่องแคบแห่งนี้เป็นที่รู้จักในนาม ช่องแคบมาเจลลัน และน่านน้ำแห่งใหม่อันแสนสงบที่เพิ่งถูกค้นพบ ก็ถูกตั้งชื่อว่า มหาสมุทรแปซิฟิก
การเดินทางของมาเจลลันเป็นบทเรียนที่ดีให้กับนวัตกร ความจำเป็นที่จะต้องสร้างสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับดินแดนฝั่งตะวันออกทำให้การเดินทางในครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์สเปน และทำให้นักเดินเรือไม่ย่นย่อต่ออุปสรรคใดๆ
โปรดตรวจสอบให้แน่ใจก่อนลงมือสร้างสรรค์นวัตกรรมว่า สิ่งที่คุณอยากทำนั้น ตรงกับความต้องการของตลาดหรือไม่ ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและมีเงินทุนอย่างพอเพียงไหม ก่อนจะเริ่มเส้นทางนวัตกรรมของคุณ
ที่มา
หนังสือ Inspiration for Innovation: 101 Lessons for Innovators เขียนโดย Gijs van Wulfen